อาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา และหมึก เมื่อนำมาประกอบอาหารทั้งแบบเมนูทานสด หรือแปรรูปด้วยการนำมาตากแห้ง นำมาดอง เพื่อให้เก็บไว้ทานได้นานตลอดทั้งปี
หมึกตากแห้ง นับเป็นการแปรรูปที่ง่ายไม่ต้องลงทุนมาก แค่นำหมึกสดมาล้างน้ำทำความสะอาด ตัดแต่งตามรูปแบบที่ต้องการ แล้วตากแดดดีๆสักสองแดดก็ได้เป็นหมึกแห้งที่ขายได้ราคาสูง หมึกแห้งนำมาทำเมนูอาหารได้หลากหลาย เช่น ทอด ปิ้ง ย่าง ทานเป็นกับแกล้มหรือทานคู่กับข้าวต้มร้อนๆ ก็อร่อยไปอีกแบบ
หมึกเป็นสัตว์ทะเลที่มักพบโลหะหนักปนเปื้อน ซึ่งปนเปื้อนจากแหล่งน้ำทะเลที่หมึกอาศัย โดยเฉพาะสารหนู ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบคือ สารหนูอินทรีย์ และสารหนูอนินทรีย์ สารหนูรูปแบบที่เป็นพิษหรืออันตรายต่อร่างกายมากคือ สารหนูอนินทรีย์ ส่วนใหญ่พบได้ในแหล่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้สารหนู แหล่งที่มีการใช้สารกําจัดศัตรูพืช และในบริเวณที่มีการถลุงแร่ หากหมึกแห้งที่เราซื้อมาปรุงอาหาร เป็นหมึกที่อาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำที่มีสารหนูปนเปื้อน ก็จะทำให้สารหนูปนเปื้อนอยู่ในตัวของหมึกด้วย
เมื่อเราทานหมึกเข้าสู่ร่างกาย สารหนูจะเข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย ปกติร่างกายจะกำจัดสารหนูออกจากร่างกายได้อย่างรวดเร็ว โดยพบว่าประมาณ 80-90% ของสารหนูที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกกำจัดออกทางปัสสาวะภายใน 2 วัน แต่หากเราได้รับสารหนูติดต่อกันเป็นเวลานานๆ และบ่อยครั้ง สารนี้จะทําให้เกิดแผลหรือเป็นรูที่ช่องจมูก ผิวหนังหนาขึ้น มีรอยด่างดําที่ผิวหนัง อาจมีเส้นสีขาวบนเล็บ ชาตามปลายมือ ปลายเท้ามีอาการอ่อนเพลียของแขน ขา และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
วันนี้สถาบันอาหาร ได้ทำการสุ่มตัวอย่างหมึกแห้งจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 4 ย่านการค้าและ 1 ยี่ห้อ เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารหนูทั้งหมด ผลวิเคราะห์พบว่ามีหมึกแห้งอยู่ 2 ตัวอย่าง ที่พบปริมาณสารหนูทั้งหมดปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ที่กำหนดให้พบสารหนูทั้งหมดได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว สาวกเมนูหมึกแห้งทั้งหลายขอแนะว่าไม่ควรทานให้บ่อยมากนักและในแต่ละวันควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลายเพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรง.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย