ฤดูร้อนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายนนี้ หลายท่านคงหนีไม่พ้นการพักผ่อนแบบยาวๆอยู่บ้าน หรือการทำงานที่บ้านเพื่อลดการเดินทาง อันจะช่วยหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ หรือลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 นอกบ้าน
การพักอยู่แต่ในบ้านหลายท่านจำเป็นต้องหากิจกรรมต่างๆทำคลายเครียด การปรุงเมนูอาหารอร่อยๆ ทานเองในบ้านจึงกลายเป็นกิจกรรมยอดฮิตในช่วงกักตัว ในช่วงฤดูร้อนของเมืองไทยเป็นฤดูกาลของมะม่วง เราจึงมักเห็นร้านค้าต่างๆ วางขายเมนูจากมะม่วง เช่น ข้าวเหนียวมะม่วง ไอศกรีมกับมะม่วงสุก น้ำปั่นมะม่วงสุก น้ำปลาหวาน กะปิหวาน ปลาร้าหวาน กุ้งแห้ง นับเป็นส่วนประกอบหลักของเมนูน้ำปลาหวาน กะปิหวาน ปลาร้าหวานที่คนไทยนิยมทานกับมะม่วงเปรี้ยว หรือมะม่วงมัน เพราะมีส่วนช่วยเพิ่มรสชาติและสีสันให้ชวนทาน
กุ้งแห้งที่เราทานกันทุกวันนี้มีหลายไซส์ หลายราคา หลายเกรด การเลือกซื้อกุ้งแห้งไม่เพียงแค่พิจารณาเรื่องราคาและขนาดเท่านั้น ขอแนะว่าควรพิจารณาความสะอาด แหล่งผลิต และต้องไม่มองข้ามเรื่อง “สี” ด้วย เพราะกุ้งแห้งที่ดีและปลอดภัยไม่ควรผสมสีใดๆลงไปทั้งสิ้น แต่ปัจจุบันผู้ผลิตมีการใส่สีผสมอาหารสังเคราะห์ลงไปเพื่อให้กุ้งแห้งมีสีส้ม เหลืองแดงสวยงามน่าทาน ทว่าเมื่อร่างกายเราได้รับสีผสมอาหารสังเคราะห์เข้าไปปริมาณมากหรือบ่อยๆ จะก่อผลเสียต่อสุขภาพ คือ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน สีบางชนิดทำให้เกิดการแพ้ ผื่นคัน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องควบคุม การใช้สีสังเคราะห์ผสมในอาหารให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
วันนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้กับผู้บริโภค สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างกุ้งแห้งจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์สีผสมอาหารสังเคราะห์ 3 ชนิด ผลปรากฏว่าพบสีผสมอาหารสังเคราะห์ในกุ้งแห้งทั้ง 5 ตัวอย่าง และพบ 3 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณ สีปองโซ 4 อาร์ และซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอนุญาตให้ใช้ คือ สีปองโซ 4 อาร์ให้ใช้ได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม และสีซันเซตเยลโลว์ เอฟซีเอฟ ให้ใช้ได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม เห็นอย่างนี้แล้ว ควรเลือกซื้อกุ้งแห้งที่มีสีตามธรรมชาติ สีไม่ฉูดฉาดจนเกินไป เพื่อความปลอดภัยของร่างกายจะดีกว่า.