สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันบูดกับขนมโก๋

สารกันบูดกับขนมโก๋

          วันไหว้พระจันทร์ เทศกาลตามวัฒนธรรมจีน ที่ปีนี้ตรงกับวันที่ 21 กันยายน 2564 ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ชาวจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนจะเฉลิมฉลองด้วยการไหว้ดวงจันทร์เวลากลางคืน อาหารที่ใช้ไหว้ ประกอบด้วย น้ำชา อาหารเจ ขนมหวาน เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี๊ยะ สาคูแดง ขนมโก๋สีขาว ผลไม้มงคล เช่น ทับทิม แอปเปิ้ล องุ่น ส้ม สาลี่ ดอกไม้ และของไหว้อื่นๆ

          วันนี้ขอนำเสนอเรื่องของขนมโก๋ ขนมอีกชนิดที่นิยมใช้ไหว้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ และในพิธีมงคลของจีน เพราะขนมโก๋หมายถึงความร่ำรวย ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กรรมวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก นำแป้งข้าวเหนียวหรือแป้งสาลีมาคั่วแห้ง ผสมกับน้ำและน้ำตาลที่เคี่ยวจนตกทราย อาจผสมถั่วเขียวบด งาบด นวดผสมให้เข้ากัน แล้วอัดใส่พิมพ์รูปแท่งสี่เหลี่ยม แผ่นกลม วงรี อาจใส่ไส้ เช่น ไส้ฟักด้วยก็ได้ ขนมโก๋ทานครั้งใดคอแห้งทุกครั้ง แต่ก็มีเนื้อสัมผัสที่เนียน หอมหวานถูกใจ

          การผลิตขนมโก๋ในปัจจุบันมีการผลิตครั้งละมากๆ ทำให้อาจมีผู้ผลิตบางรายเติมสารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิกลงไป เพื่อให้สามารถเก็บรักษาไว้ขายได้นานๆ

          แม้ว่าตามกฎหมายไทยจะอนุญาตให้ใช้สารกันบูดทั้ง 2 ชนิดนี้ ได้ในอาหารตามชนิดและปริมาณที่กำหนด แต่หากผู้ผลิตใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ เช่น อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาการเลือดตกใน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง หรืออาจทำให้พิการได้

          วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างขนมโก๋จำนวน 5 ตัวอย่างที่วางขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์สารกันบูด 2 ชนิด ได้แก่ กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ผลวิเคราะห์พบว่าขนมโก๋ทุกตัวอย่างไม่พบสารกันบูดทั้ง 2 ชนิดเลย

          วันไหว้พระจันทร์ปีนี้ใช้ขนมโก๋เป็นของไหว้ได้อย่างสบายใจและปลอดภัยต่อสุขภาพ.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins