สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส ในเห็ดเข็มทอง

ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส ในเห็ดเข็มทอง

          เห็ดเข็มทอง วัตถุดิบอีกชนิดที่คนไทยนำมาปรุง ประกอบเป็นอาหารหลากหลายเมนู โดยเฉพาะใช้เป็นส่วนประกอบของเมนู หมูกระทะ ชาบู สุกี้ หรือนำมาปรุงเป็นยำ ทำเป็นลาบเห็ดเข็มทอง หรือนำมาผัดน้ำมันหรือผัดเนย หรือพันเบคอนแล้วปิ้งย่าง ล้วนเป็นเมนูที่คนไทยนิยมในยุคนี้ วันนี้ คอลัมน์มันมากับอาหาร ขอนำเสนอเรื่องราวของเห็ดเข็มทองที่หลายๆ ท่านอาจไม่ทราบว่า เห็ดเข็มทองดิบ อาจมีเชื้อก่อโรคที่ชื่อว่า ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส ปนเปื้อนอยู่ได้

          ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส เป็นเชื้อที่มักพบปนเปื้อนในวัตถุดิบที่นำไปประกอบอาหาร เช่น นม เนื้อ ไก่ อาหารทะเล ผัก เห็ดเข็มทอง เชื้อชนิดนี้สามารถเจริญได้ที่อุณหภูมิตู้เย็นและทนความร้อนได้ดี จึงอาจพบปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น นม เนื้อสัตว์ ผัก ไส้กรอก

          ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส เข้าสู่ร่างกายได้โดยการทานอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน เมื่อเราได้รับเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดโรค Listeriosis โลหิตเป็นพิษและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น มีไข้ ปวดหัว ท้องเสีย อาเจียน อาการติดเชื้อในกระแสเลือดอื่นๆ มักพบในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

          สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างเห็ดเข็มทองดิบที่นำเข้า และผลิตในประเทศ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ตลาดสดในเขตกรุงเทพฯและ จ.นนทบุรี เพื่อนามาวิเคราะห์ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส ปนเปื้อน ผลปรากฏว่าพบการปนเปื้อนในเห็ดเข็มทองดิบที่ผลิตในประเทศ 2 ตัวอย่าง แต่ไม่ต้องตกใจ เราสามารถลดการปนเปื้อนได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ นำเห็ดเข็มทองดิบ มาล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง และต้องนำมาปรุงให้สุกก่อนทานทุกครั้ง เพียงแค่นี้ก็ปลอดภัยจากอันตรายของเชื้อนี้แล้ว เพราะ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส ถูกทำลายได้ด้วยความร้อนอุณหภูมิที่เราใช้ปรุงอาหาร.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

 
เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins