สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
โซเดียมกับส้มตำปู ปลาร้า

 โซเดียมกับส้มตำปู ปลาร้า

 

         สองสามวันมานี้ หลายท่านคงได้รับข่าวสารว่าภาครัฐจะมีนโยบายเก็บภาษีความเค็ม เพื่อควบคุมปริมาณการใช้โซเดียมในส่วนประกอบของอาหาร หวังลดความเสี่ยงของคนไทยจากการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะคนที่ทานอาหารรสเค็มเป็นประจำ หรือชอบรสเค็มจัด มักพบเป็นโรคเหล่านี้ รสเค็มในอาหารมาจากโซเดียมที่อยู่ในรูปของ “เกลือแกง” มักมีอยู่ในเครื่องปรุงอาหารของไทยเรา เช่น เกลือ น้ำปลา กะปิ ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู น้ำปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ผงชูรส ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้ม และในอาหารแปรรูป เช่น บะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ซุปชนิดก้อนและชนิดซอง ขนมขบเคี้ยว อาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง ผักและผลไม้ดอง ไข่เค็ม ปลาเค็ม ฯลฯ

          โซเดียมเป็นเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย เพราะมีหน้าที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ การกระจายตัวของน้ำในส่วนต่างๆของร่างกาย ควบคุมสมดุลของกรด-ด่าง การเต้นของหัวใจและชีพจร มีผลต่อความดันโลหิต การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ แม้จะมีประโยชน์อยู่มาก แต่ร่างกายต้องการในปริมาณที่เหมาะสม หากได้รับมากไปหรือน้อยไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ปกติเราต้องการโซเดียมประมาณวันละ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เท่ากับเกลือประมาณ ¾ ช้อนชาเท่านั้น ซึ่งปริมาณโซเดียมสูงสุดที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่เป็นอันตราย คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา

        วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างส้มตำปู ปลาร้า เมนูที่มีส่วนประกอบทั้งน้ำปลา น้ำปลาร้า และผงชูรส จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียม ผลปรากฏว่า ในตัวอย่างส้มตำปู ปลาร้า หนัก 1 ขีด พบโซเดียมในปริมาณ 702.63-1,622.59 มิลลิกรัม เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ท่านที่เป็นสาวกส้มตำปู ปลาร้า คงต้องเพลาๆลงบ้าง เพราะใน 1 วันเราอาจได้รับโซเดียมจากอาหารอื่นๆอีกด้วย เพื่อความปลอดภัยของไตและหัวใจเรา.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins