ไข่แดงเค็ม อาหารรสชาติเค็มๆมันๆที่คนไทยใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูอาหารคาวและหวานหลากชนิด เมนูที่เราคุ้นเคย เช่น ยำไข่แดงเค็ม ยำปูไข่แดงเค็ม ส้มตำไทยไข่แดงเค็ม ส้มตำข้าวโพดไข่เค็ม ปลาหมึกผัดไข่เค็ม บ๊ะจ่าง บัวลอยไข่เค็ม ขนมเปี๊ยะ (ไส้ไข่แดงเค็ม) โทสต์ราดซอสไข่เค็ม ปิงซูไข่เค็ม ยิ่งกว่านั้น 2 ปีที่ผ่านมานี้ อาหารสำเร็จรูปรสไข่เค็มได้กลายเป็นเมนูยอดฮิตมีสินค้าออกวางจำหน่ายหลากหลายทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไข่แดงเค็ม มันฝรั่งทอดรสไข่เค็ม กล้วยทอดกรอบรสไข่เค็ม
ทว่าวันนี้คอลัมน์มันมากับอาหาร อยากขอเตือนผู้ที่รักการทานไข่แดงเค็มให้ระวังอันตราย ที่อาจแฝงมากับไข่แดงเค็มนั่นคือ เชื้อก่อโรคซาลโมเนลลา เชื้อชนิดนี้มักพบปนเปื้อนในเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ นม ปลาและอาหารทะเลที่ไม่ผ่านความร้อนอย่างเพียงพอ หรืออาหารสุกๆดิบๆ สำหรับไข่แดงเค็มเชื้ออาจปนเปื้อนมากับไข่ดิบ มีสาเหตุจากการที่แม่ไก่ที่มีเชื้อซาลโมเนลลาในตัว และอาจส่งผ่านเชื้อไปสู่ไข่ไก่ตั้งแต่เปลือกไข่ยังไม่ก่อตัว หากขั้นตอนการทำไข่แดงเค็มไม่ได้ล้างไข่ดิบทั้งเปลือกให้สะอาด และไม่ได้นำไข่แดงมาอบหรือผ่านความร้อนอย่างเพียงพอ อาจทำให้มีเชื้อซาลโมเนลลาปนเปื้อนอยู่ในไข่แดงเค็มได้ หากเราทานเมนูจากไข่แดงเค็มนี้เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดโรคซาลโมเนลโลซิส มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดศีรษะ ปวดท้อง มีไข้ หนาวสั่น เบื่ออาหารและอ่อนเพลีย ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างไปตามปริมาณเชื้อที่ได้รับ และความต้านทานของร่างกายแต่ละคน
วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างไข่แดงเค็มจำนวน 5 ตัวอย่าง จากร้านในตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เกตในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อซาลโมเนลลาปนเปื้อน ผลปรากฏว่าพบเชื้อซาลโมเนลลาในไข่แดงเค็ม 3 ตัวอย่าง เห็นอย่างนี้แล้วขอเตือนว่าก่อนทานเมนูจากไข่แดงเค็มทุกครั้งควรนำมาผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นาน 4-5 นาที หรือ 100 องศาเซลเซียส นาน 1 นาทีเพื่อทำลายเชื้อซาลโมเนลลา เสียก่อน เพื่อความปลอดภัยและสบายท้อง.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย