สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารบอแรกซ์ในเนื้อหมู

สารบอแรกซ์ในเนื้อหมู 

       

          ช่วงนี้ข่าวคราวเรื่องเนื้อหมูราคาแพงอาจซาลงไปบ้าง เพราะราคาเริ่มถูกลง พอจะหาซื้อมาปรุงอาหารทานเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนกันได้มากขึ้น  ทว่าสิ่งที่คอลัมน์มันมากับอาหาร จะขอนำเสนอในวันนี้ไม่ใช่ เรื่อง ราคาของเนื้อหมู แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยจากสารอันตรายที่อาจปนเปื้อนอยู่ในเนื้อหมู  สารที่ว่าคือ บอแรกซ์

          ปกติบอแรกซ์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำแก้วเพื่อให้ทนความร้อน ใช้เป็นสารประสานเชื่อมทอง และยับยั้งการเจริญของเชื้อราในแป้งทาตัว  แต่อาจมีผู้ผลิตอาหารหรือพ่อค้า แม่ค้าบางรายนำสารบอแรกซ์มาผสมในอาหารเช่น เนื้อหมู หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เพื่อให้อาหารมีความหยุ่นกรอบ คงตัวได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย ซึ่งตามกฎหมาย คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561) กำหนดให้บอแรกซ์เป็นสารที่ห้ามใส่ในอาหารเพราะจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เมื่อเราได้รับบอแรกซ์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากๆ จะทำให้เกิดพิษเฉียบพลันคือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและเสียชีวิต แต่ถ้าได้รับปริมาณน้อยๆ อาจทำให้เกิดพิษเรื้อรังคือ มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร  ปวดหัว เยื่อตาอักเสบ ตับและไตอักเสบได้ 

          สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างเนื้อหมูสด ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จาก 5 ตลาดสดจำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์สารบอแรกซ์ปนเปื้อน ผลปรากฏว่า ไม่พบสารบอแรกซ์ปนเปื้อนในเนื้อหมูสดทุกตัวอย่าง  วันนี้ทานเมนูเนื้อหมูกันได้อย่างปลอดภัย 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins