สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันบูดในหมูหมัก

สารกันบูดในหมูหมัก

          หมูหมัก อาหารง่ายๆ ที่มีรสชาตถูกปากคนไทยทุกเพศวัย ทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและผู้สูงอายุหาซื้อได้ง่ายทั้งในตลาดและซุเปอร์มาเก็ต ทั้งแบบหมูหมักสำเร็จรูป (ดิบ) ที่ต้องนำมาปรุงให้สุกเองที่บ้านก่อนทาน หรือหมูหมักปิ้ง ทอด ย่างที่ปรุงสุกแล้ว ซื้อมาก็ทานกันได้เลย ทว่าอาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน ผู้ผลิตและผู้ขายบางรายต้องการให้เก็บไว้ขายได้นานๆ หรือ มีอายุการเก็บได้ยาวนานขึ้น อาจมีการเติมสารกันบูดหรือสารกันเสียลงไปในอาหาร เช่น หมูหมัก เพื่อป้องกันไม่ให้หมูเน่าเสีย และเก็บไว้ขายได้นาน  สารกันบูดที่ว่า คือ กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก ตามกฎหมายอนุญาตให้เติมได้ในอาหารตามปริมาณและชนิดอาหารที่กำหนด

          ทว่า หากผู้ผลิตเติมลงในอาหารปริมาณที่มากเกินไป หรือเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้  สารกันบูด 2 ชนิดนี้มีพิษปานกลางถึงต่ำ ถ้าได้รับปริมาณน้อยจะไม่เกิดการสะสมในร่างกาย สามารถกำจัดความเป็นพิษที่ตับ และขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณสูงมากๆ อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เลือดตกในหรือเป็นอัมพาตได้

          สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างหมูหมักจำนวน  5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ที่วางขายในตลาดและซุปเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ผลปรากฎว่ามีอยู่ 3 ตัวอย่าง ที่พบกรดเบนโซอิกและในจำนวนนี้มี 1 ตัวอย่าง พบในปริมาณสูงมาก และเกินมาตรฐานหากเทียบกับค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 418 พ.ศ. 2563 ที่กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทั้งชิ้นหรือตัดแต่งที่ผ่านกระบวนการหมักและทำแห้งโดยไม่ใช้ความร้อนได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ท่านที่ชื่นชอบหมูหมักขอแนะว่าทานได้ แต่ไม่ควรทานให้บ่อยมากนัก ควรเลือกซื้อจากร้านที่มั่นใจได้ว่าไม่ใส่สารกันบูด เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว ///

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins