สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคกับปลาแซลมอนแล่

       เชื้อก่อโรคกับปลาแซลมอนแล่

 

        ปลาแซลมอน อาหารอีกชนิดที่กำลังเป็นที่นิยมของคนไทยโดยเฉพาะเมนูสัญชาติญี่ปุ่น เช่น แซลมอนซาชิมิที่นำเนื้อแซลมอนดิบมาแล่เป็นชิ้นเล็กๆ ทานคู่โชยุและเครื่องเคียง เช่น ขิงดอง หัวไชเท้าขูด วาซาบิ หรือเมนูสเต๊กปลาแซลมอน ปลาแซลม่อนย่างที่ทานคู่กับข้าวและซุปมิโซะ ด้วยความเป็นที่นิยม เราจึงหาซื้อปลาแซลมอนแล่ดิบแพ็กถุงขายได้ตามห้างสรรพสินค้าและตลาดสดทั่วไป

 

        หากเรานำมาปรุงเป็นเมนูสุกก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ท่านที่ชอบทานดิบๆ สไตล์อาหารญี่ปุ่น ขอเตือนว่าอาจต้องระวังเชื้อโรคกันสักนิด เช่น เชื้อ อี.โคไล เชื้อที่เป็นดัชนีบ่งชี้สุขลักษณะของอาหาร เชื้อนี้มักพบปนเปื้อนในอาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารดิบ อาหารปรุงสุกค้างคืน ผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด หากเราทานอาหารที่มีเชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อนจำนวนมากๆ จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษ แต่อาการท้องเสียส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง และหายได้เองภายใน 1-2 วัน เชื้อชนิดนี้ไม่ทนความร้อน

 

        ฉะนั้นหากนำอาหารมาปรุงให้สุกก่อนทานก็จะป้องกันอันตรายจากเชื้อชนิดนี้ได้ วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาแซลมอนแล่ (ดิบ) จากห้างสรรพสินค้าและตลาดในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อน ผลปรากฏว่าปลาแซลมอนแล่ทั้ง 5 ตัวอย่าง พบเชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อนน้อยกว่า 3 MPN/กรัม ซึ่งไม่เกินเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหาร และภาชนะสัมผัสอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กำหนดให้อาหารทะเลที่บริโภคดิบ พบเชื้อ อี.โคไล ปนเปื้อนได้น้อยกว่า 3 MPN ใน 1 กรัม วันนี้ ทานปลาแซลมอนแล่ดิบๆกันได้อย่างสบายใจ แต่ก็อย่าประมาทควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่มั่นใจถึงความสะอาด สุขลักษณะที่ดีได้จะดีกว่า

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins