สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันเสียในอาหารพร้อมรับประทาน

สารกันเสียในอาหารพร้อมรับประทาน

 

 

        อาหารพร้อมรับประทานหรือ Ready to Eat เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมสำหรับคนเมืองยุคนี้ เหมาะกับผู้ที่ไม่มีเวลาปรุงอาหาร หรือเร่งรีบออกไปทำงานในช่วงเช้า หรือกลับบ้านในช่วงเย็น เพราะอาหารพร้อมรับประทาน เป็นอาหารที่ปรุงสำเร็จหรือปรุงสุกเรียบร้อยแล้วและแช่แข็งหรือแช่เย็นไว้ เมื่อเราไปซื้อคนขายก็จะนำไปเข้าไมโครเวฟเพื่ออุ่นให้ร้อนก่อนนำมาทาน ง่าย สะดวก และราคาไม่แพง ที่สำคัญมีเมนูให้เลือกหลากหลาย ไม่น่าเบื่อ

 

        อาหารพร้อมรับประทานนั้น ผู้ผลิตต้องการให้สามารถเก็บรักษาให้ขายได้นานๆ จึงนำมาผ่านกระบวนการแช่แข็งหรือแช่เย็นเพื่อถนอมให้เก็บไว้ได้นาน โดยไม่เสียและยังคงคุณค่าของสารอาหารไว้ ทว่า อาจมีผู้ผลิตบางรายใส่สารกันเสียเข้าไปด้วยเพื่อให้สามารถเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น เช่น กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก สารกันเสียที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร เพื่อยับยั้งการเติบโตของยีสต์ แบคทีเรียและเชื้อรา หรือหากผู้ผลิตไม่ได้ใส่ลงไปก็อาจมาจากเครื่องปรุง หรือซอสปรุงรสที่ใช้ปรุงอาหารซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกเพื่อควบคุมคุณภาพได้

 

        กรณีนี้จะพบในอาหารปริมาณไม่มาก สารทั้ง 2 ชนิดนี้ กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้กับอาหารหลายชนิด แต่ต้องใช้เฉพาะกับชนิดอาหารที่อนุญาตให้ใช้และใช้ตามปริมาณที่กำหนดเท่านั้น เพราะแม้จะมีความเป็นพิษน้อย แต่ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณสูงมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย หรือเป็นอัมพาตได้ สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างอาหารพร้อมรับประทานจำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางขายในร้านสะดวกซื้อ 5 ร้าน ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ผลปรากฏว่า พบกรดเบนโซอิกทุกตัวอย่าง และพบกรดซอร์บิกใน 1 ตัวอย่าง เห็นอย่างนี้แล้ว ไม่ควรทานอาหารพร้อมรับประทานบ่อยมากนัก ทางที่ดีควรปรุงอาหารเองที่บ้านและเลือกทานอาหารที่หลากหลายเพื่อความปลอดภัย.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins