สารกันเสียกับเส้นขนมจีน
ขนมจีน อาหารเส้นพื้นบ้านที่คนไทยนิยมทานโดยทานคู่กับน้ำพริก น้ำยา หรือแกงชนิดต่างๆ ตามวัฒนธรรมอาหารของแต่ละท้องถิ่น เช่น ขนมจีนซาวน้ำของภาคเหนือ ขนมจีนกับแกงไตปลาของภาคใต้ ขนมจีนกับน้ำพริก น้ำยากะทิและแกงเขียวหวานของภาคกลาง และยังมีเมนูยำขนมจีนใส่น้ำปลาร้าที่แซ่บนัวของภาคอีสานด้วย
ขนมจีนทำมาจากปลายข้าวเจ้าหรือข้าวหัก โดยนำมาหมักจนได้ที่แล้วรีดได้เป็นเส้นขนมจีนที่อ่อนนุ่ม ลื่น และกลิ่นหอมจากการหมัก ปัจจุบันมีผู้ผลิตขนมจีนจำนวนมากในตลาดสด ร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เกต จะเห็นมีขนมจีนวางขายหลากหลายยี่ห้อ ทว่าขนมจีนเป็นของสดที่เก็บได้ไม่นานและเน่าเสียง่าย ทำให้ผู้ผลิตบางรายใส่สารกันเสีย เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิค ลงไป เพื่อทำให้ขนมจีนมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ไม่เน่าเสียง่าย สามารถขนส่งไปที่ไกลๆ และวางขายได้เป็นเวลานาน สารกันเสีย 2 ชนิดนี้ช่วยยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย ยีสต์ และเชื้อราที่เป็นสาเหตุให้อาหารเน่าเสียได้ จึงทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร เช่น ขนมจีนได้
ตามกฎหมายไทยอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิคในอาหารได้ แต่อนุญาตให้ใส่เฉพาะชนิดอาหารที่อนุญาตและใส่ได้ตามปริมาณที่กำหนดเท่านั้น เพราะหากใส่ปริมาณมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดท้อง และประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง สำหรับขนมจีนเป็นอาหารที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ใส่สารกันเสียทั้ง 2 ชนิดนี้
วันนี้คอลัมน์มันมากับอาหารจึงสุ่มเก็บตัวอย่างขนมจีนหมักจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่วางขายในตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิคปนเปื้อน ผลปรากฏว่า พบกรดเบนโซอิกในขนมจีนทุกตัวอย่าง แต่ไม่พบกรดซอร์บิค เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าไม่ควรทานขนมจีนเป็นประจำ หรือเลือกซื้อจากร้านที่มั่นใจว่าไม่ใส่สารกันเสีย และควรทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย