ด้วยกระแสการรักสุขภาพ ทำให้อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเป็นที่นิยมมากขึ้นในเมืองไทยผนวกกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพวางขายกันมากขึ้น เช่น เครื่องดื่มสมุนไพร เครื่องดื่มผสมวิตามินต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มผสมวิตามินซี เพราะวิตามินซีช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกทั้งยังช่วยเรื่องการทำงานตามปกติของระบบประสาท ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง ช่วยเพิ่มการดูดซึมเหล็ก
ด้านความสวยงามวิตามินซีมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจนเพื่อการทำงานตามปกติของผิวหนังและช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ปัจจุบันตามร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เกตเราจะเห็นเครื่องดื่มผสมวิตามินซีแช่เย็น หลากหลายรสชาติและยี่ห้อวางขายให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ เลือกซื้อมาดื่ม เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากวิตามินซีตามต้องการและดื่มเพื่อความสดชื่น วันนี้ สถาบันอาหารจึงสุ่มตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ชนิดที่บนฉลากระบุว่าวิตามินซี 200% หรือเครื่องดื่มที่มีการเติมปริมาณวิตามินซีต่อขวดเท่ากับ 120 มิลลิกรัม หรือคิดเป็น 2 เท่า หรือ 200% ของปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (Thai RDI) จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนํามาวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี ผลปรากฏว่า เครื่องดื่มผสมวิตามินซีทั้ง 5 ตัวอย่าง ยังคงมีวิตามินซีอยู่และมีปริมาณอยู่ในช่วง 16.2-195.35 มิลลิกรัมต่อขวด เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าเลือกซื้อชนิดและรสชาติที่ชอบเป็นดีที่สุดเพราะจาก 5 ตัวอย่างนี้เห็นได้ว่า เครื่องดื่มผสมวิตามินซีนั้นมีวิตามินซีอยู่แน่ๆ แต่มีในปริมาณทั้งมากกว่าและน้อยกว่า 120 มิลลิกรัมต่อขวด ที่พบน้อยกว่า 120 มิลลิกรัมต่อขวด อาจเพราะกระบวนการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือเก็บรักษาไว้ในสภาวะที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้วิตามินซีสลายตัว ไม่สามารถคงปริมาณของวิตามินในเครื่องดื่มผสมวิตามินซีไว้ได้ ทว่า เครื่องดื่มผสมวิตามินซีเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการเสริมสารอาหารเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินซีที่เพียงพอ หากในหนึ่งวันเราทานผักผลไม้ 400 กรัม โดยเฉพาะที่เป็นแหล่งของวิตามินซี เช่น ผักคะน้า บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ ถั่วลันเตา ฝรั่ง มะขามเทศ เงาะ ลูกพลับ สตรอว์เบอร์รี ส้มโอขาว แอปเปิ้ล ส้ม ก็จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินซีที่เพียงพอต่อความต้องการของเราอยู่แล้ว
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย