สารฟอกขาวกับเห็ดหูหนูขาวแห้ง
เห็ดหูหนูขาว สุดยอดของเห็ดที่ดอกมีลักษณะบางนุ่มคล้ายวุ้น มีสีขาวใส ขอบหยักย่นเป็นคลื่น สมัยก่อนมีราคาแพง มักเป็นอาหารบำรุงร่างกายของคนรวย แต่ปัจจุบันเพาะเลี้ยงในโรงเรือนได้ ทำให้เห็ดหูหนูขาวราคาถูกลง หาซื้อได้ง่าย เราจึงเห็นเห็ดหูหนูขาวเป็นส่วนประกอบเมนูอาหารหลายชนิด เช่น ยำต่างๆ เย็นตาโฟ ซุปเห็ด ผัดเห็ดกับไข่ เห็ดหูหนูขาวมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งช่วยบำรุงกำลังและผิวพรรณ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ เสริมภูมิคุ้มกัน ทำให้การไหลเวียนเลือดของหัวใจดีขึ้น ลดอาการหลอดเลือดหัวใจขาด ตีบ บำรุงระบบย่อยอาหาร บำรุงปอด ไต บำรุงสมองและมีฤทธิ์ช่วยในการนอนหลับ ทว่าเห็ดหูหนูขาวที่เราเห็นสีขาวใสน่าทานนั้น อาจมีอันตรายแอบแฝงมาด้วยได้คือ สารฟอกขาวหรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ผู้ผลิตใช้ฟอกสีเห็ดหูหนูขาว ให้มีสีขาว ไม่คล้ำ น่าทาน
สารชนิดนี้มีคุณสมบัติยับยั้งการเปลี่ยนสีของอาหารไม่ให้เป็นสีน้ำตาลเมื่ออาหารถูกความร้อน แสงแดด ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องใช้ตามชนิดอาหารและปริมาณที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพราะหากได้รับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เข้าสู่ร่างกายปริมาณมากเกินไป ร่างกายไม่สามารถขับออกตามกลไกปกติได้หมด จะมีผลทำให้มีอาการหายใจติดขัด หลอดลมอักเสบ ระคายเคืองที่จมูก คอ ปอด เวียนศีรษะ อาเจียน และลดประสิทธิภาพของการใช้ไขมัน โปรตีนในร่างกาย ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบหืดอยู่แล้วอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นและหลอดลมตีบได้
สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างเห็ดหูหนูขาวแห้ง 5 ตัวอย่าง ที่วางขายในตลาดเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง ผลปรากฏว่าพบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทั้ง 5 ตัวอย่าง และพบในช่วง 1,194.60-3,036.80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเกินปริมาณที่กฎหมายให้ใช้ทุกตัวอย่าง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้ใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในอาหารกลุ่มผักแห้ง สาหร่ายทะเล นัทและเมล็ดที่แห้ง เห็นอย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าก่อนนำเห็ดหูหนูขาวมาปรุงอาหาร ควรล้างน้ำและลวกในน้ำเดือด 2 นาที เพื่อลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างลงให้อยู่ในระดับต่ำ และปลอดภัยต่อร่างกาย.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย