สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
กรดซาลิซิลิคในขิงดอง

กรดซาลิซิลิคในขิงดอง

 

        ขิงดอง เครื่องเคียงชนิดหนึ่งที่ใช้ทานร่วมหรือเคียงกับอาหารไทยหลายชนิด เช่น เป็ดย่าง หมูกรอบ ไส้กรอกย่าง ไส้อั่ว รวมถึงซูชิเพื่อตัดรสและแก้เลี่ยน ขิงดองทำมาจากขิงสด พืชสมุนไพรไทยที่มีกลิ่นฉุน มีรสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยลดอาการท้องอืด ขับลม ลดอาการอักเสบในลำไส้ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการคลื่นไส้ได้

        กระบวนการทำขิงดองเริ่มจากนำขิงสดมาล้างให้สะอาด ปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบางๆ เติมน้ำตาล เกลือ น้ำส้มสายชูคนผสมให้เข้ากันทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง เมื่อขิงเปลี่ยนเป็นสีชมพูก็นำมาทานได้ แถมยังเก็บรักษาไว้ทานได้นาน ท่านที่ชื่นชอบขิงดองควรระวังกันสักนิด เพราะอาจมีผู้ผลิตบางรายมีการเติมกรดซาลิซิลิคหรือสารกันราในระหว่างการผลิตขิงดอง กรดซาลิซิลิคเป็นสารที่ไม่มีกลิ่น มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ต่างๆ เมื่อเติมในอาหารจำพวกผัก ผลไม้ดอง เช่น ขิงดอง จะช่วยทำให้ขิงดองคงสภาพความสดใหม่ น้ำดองมีลักษณะใส ไม่ขุ่น ดูน่ารับประทาน ไม่ขึ้นราหรือเน่าเสียได้ง่าย ทว่า สารชนิดนี้เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือ ทำให้มีอาการระคายเคืองบริเวณปาก ลำคอ ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาเจียน หูอื้อ มีไข้ ความดันโลหิตต่ำ อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หากได้รับเข้าสู่ร่างกายปริมาณไม่มากแต่ได้รับเป็นประจำ จะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำและเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ตามกฎหมายของไทย กำหนดให้อาหารที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิซิลิคเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย กล่าวง่ายๆ คือ ห้ามใช้กรดซาลิซิลิคใส่ในอาหารนั่นเอง

        วันนี้สถาบันอาหารสุ่มเก็บตัวอย่างขิงดองทั้งแบบมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อ (ตักขาย) จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในตลาดเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์กรดซาลิซิลิคปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่า ขิงดองทั้ง 5 ตัวอย่าง ไม่พบกรดซาลิซิลิคปนเปื้อนเลย วันนี้บริโภคขิงดองกันได้อย่างปลอดภัย.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins