THC กับอาหารและเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ
นโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ส่งเสริมและพัฒนากัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ นำภูมิปัญญาไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อในอุตสาหกรรม ปัจจุบันจึงมีอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของกัญชาวางขายทั้ง ในรูปแบบออนไลน์และตามท้องตลาด เช่น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของใบกัญชาบรรจุขวด ตามกฎหมายอาหารของไทยอนุญาตให้ใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชา ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย เป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด เพราะในกัญชามีสารสำคัญกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ซึ่งมีสารอยู่ 2 ชนิดที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ สาร THC (เตตราไฮโดรแคนนาบินอล) และ CBD (แคนนาบิไดออล) สาร THC หากได้รับ ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยการนอนหลับ อาการเบื่ออาหาร อาการปวดเรื้อรัง แต่หากได้รับในปริมาณสูงก็เป็นสารเมาที่ส่งผลต่อการทำงานของสมอง หากร่างกายได้รับสาร THC ปริมาณมากเกินไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้การตัดสินใจและความจำ ส่วนสาร CBD มีประโยชน์ในด้านช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและกล้ามเนื้อ แต่ก็อาจทำให้เกิดการแพ้ได้
สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างขนมและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชา จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสาร เตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ Delta-9-Tetrahydrocannabinol (∆9-THC) ผลวิเคราะห์พบว่ามีเพียง 1 ตัวอย่าง ที่พบสาร ∆9-THC แต่พบ ในปริมาณที่น้อยมากและน้อยกว่าค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดให้พบ ∆9-THC ได้ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้วสบายใจกันได้เปลาะหนึ่ง ขอแนะเพิ่มเติมว่าในหนึ่งวันไม่ควรทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชา เกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ เช่น ขวด ซอง ห่อ ที่สำคัญ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรรับประทาน ผู้ที่รู้ตัวว่าแพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทานและการทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาอาจทำให้ง่วงซึมได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย