สารกันเสียกับเส้นใหญ่สด
เส้นใหญ่ วัตถุดิบที่คนไทยคุ้นเคยในอาหารหลากหลายเมนูทั้งก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ผัดซีอิ๊ว ผัดขี้เมาก๋วยเตี๋ยวลุยสวน และราดหน้า เส้นใหญ่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งพืชอื่นๆ นำมาผ่านกระบวนการรีดเนื้อแป้งให้เป็นแผ่นบาง นึ่งให้สุกแล้วนำมาตัดเป็นเส้น คลุกน้ำมันก็จะได้เส้นใหญ่แบบสดๆพร้อมขาย ทว่าด้วยความที่เส้นใหญ่สดทำจากแป้งจึงอาจเน่าเสียได้ง่าย ทำให้ผู้ผลิตบางรายใส่สารกันเสีย เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิกลงไป เพื่อทำให้เส้นใหญ่สดมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ไม่เน่าเสียง่าย วางขายหรือขนส่งไปที่ไกลๆได้เป็นเวลานาน สารกันเสีย 2 ชนิดนี้สามารถยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย ยีสต์ เชื้อราที่เป็นสาเหตุให้อาหารเน่าเสีย จึงช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้ กฎหมายของไทยอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกในเส้นใหญ่ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เพราะหากร่างกายได้รับสารกันเสียในปริมาณมากเกินไปหรือมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จะเป็นอันตรายได้ เช่น ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง
วันนี้สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างเส้นใหญ่สดจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ตลาดในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ผลการวิเคราะห์พบว่า ทั้ง 5 ตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในช่วง 241.28-908.41 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณที่พบยังไม่เกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด วันนี้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเส้นใหญ่นั้นยังปลอดภัย แต่หากเลือกได้ขอแนะว่าควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตหรือร้านที่ไม่เติมสารกันเสียจะดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย