สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคกับเห็ดเข็มทองดิบ

เชื้อก่อโรคกับเห็ดเข็มทองดิบ

        เห็ดเข็มทอง วัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น หลากหลายเมนู ทั้งเมนูยำ ต้มยำ ผัดวุ้นเส้น เห็ดเข็มทองผัดเนย เห็ดเข็มทองทอดกรอบ เบคอนพันเห็ดเสียบไม้ย่าง ชาบู หมูกระทะ เห็ดเข็มทองมีประโยชน์ช่วยให้เกิดความสมดุลภายในร่างกาย ป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหาร และกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้เห็ดเข็มทองมีประโยชน์หลากหลาย แต่ก็ควรทานแบบปรุงสุกแล้วทุกครั้ง เพราะเห็ดเข็มทองดิบอาจมีเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษชื่อ ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส ปนเปื้อนอยู่ได้

ซึ่งอาจปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อมในการผลิต หรือการจัดเก็บ เพราะเชื้อชนิดนี้พบได้ตามดิน น้ำ อากาศ สภาพแวดล้อมที่มีความชื้น พืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย การผลิตเห็ดเข็มทองใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น รำข้าว ตอซังข้าวโพดในการเพาะ หากผู้ผลิตไม่รักษาสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาจทำให้เชื้อปนเปื้อนและเจริญเติบโตในเห็ดเข็มทองได้ ที่สำคัญเชื้อชนิดนี้อยู่รอดและเติบโตได้ภายใต้การแช่เย็น การนำอาหารเก็บรักษาในตู้เย็นจะไม่สามารถยับยั้งการเจริญของ ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส ได้ เมื่อเราได้รับเชื้อ ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส เข้าสู่ร่างกาย จะทำให้มีอาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง หากอาการของโรคเกิดกับแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เด็กทารก และผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงมากและเสียชีวิตได้

สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างเห็ดเข็มทองดิบจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 4 ยี่ห้อ ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส ปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่างพบเชื้อ ลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส ปนเปื้อน เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้วไม่ควรทานเห็ดเข็มทองดิบๆ ควรนำมาล้างด้วยน้ำสะอาดและปรุงด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 2 นาที หรือนำมาต้ม ผัด ทอด ปิ้ง ย่าง จนมั่นใจว่าเห็ดเข็มทองสุกแล้วก่อนนำมาทานทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย ไม่เป็นโรคอาหารเป็นพิษในหน้าร้อน.

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins