สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ยอดมะพร้าวอ่อนสดกับสารฟอกขาว

ยอดมะพร้าวอ่อนสดกับสารฟอกขาว

        ยอดมะพร้าวอ่อน วัตถุดิบที่ได้จากส่วนยอดอ่อนของต้นมะพร้าว สีขาวนวล เนื้อสัมผัสกรอบ เคี้ยวอร่อย นิยมนำมาประกอบอาหารจำพวกแกง เช่น แกงส้ม แกงคั่ว แกงเขียวหวาน และยำ ส้มตำต่างๆ ส่วนใหญ่หาซื้อได้ตามตลาดนัด อาจขายในลักษณะเป็นท่อนตามยอดที่ตัดมา หรือหั่นซอยเป็นชิ้นเล็กๆพร้อมนำไปประกอบอาหาร ด้วยความที่ยอดมะพร้าวอ่อนมีสีขาวและคล้ำ ดำง่าย จึงมีพ่อค้าแม่ค้าบางรายนำยอดมะพร้าวอ่อนสดไปแช่ในสารฟอกขาว หรือซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อให้ยอดมะพร้าวยังคงสีขาวนวล น่าทาน และสามารถเก็บไว้ขายได้นาน ทว่าหากใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณมากหรือมากเกินกว่ากฎหมายกำหนดจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น มีอาการหายใจขัด แน่นหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วง ไตวาย บางรายที่มีการแพ้ อาจช็อกจนหมดสติ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหืดหากทานอาหารที่มีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะทำให้มีอาการหลอดลมตีบ และเสียชีวิตได้ ตามกฎหมายไทย ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 444 พ.ศ.2566 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 3) อนุญาตให้ใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์สำหรับป้องกันการเกิดสีน้ำตาลของผักที่มีสีคล้ำได้ง่าย โดยอาหารในหมวดผัก สาหร่ายทะเล นัท และเมล็ดชนิดสดที่ปอกเปลือก ตัดแต่งหรือหั่นฝอยรวมถึงยอดมะพร้าวอ่อนสดพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปริมาณสูงสุดได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

        สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างยอดมะพร้าวอ่อนจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ในตลาดสดเขตกรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์ ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ผลการวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่าง พบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง โดยปริมาณที่พบอยู่ในช่วง 5.16-1,818.90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เกินกว่าค่ามาตรฐานถึง 3 ตัวอย่าง เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ผู้บริโภคควรสังเกตให้ดีก่อนเลือกซื้อ ควรเลือกยอดมะพร้าวที่มีสีใกล้เคียงกับธรรมชาติ ไม่ขาวจนเกินไป ก่อนทานควรล้างน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ที่สำคัญปรุงให้สุกก่อนทานทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยจากสารฟอกขาว.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins