สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ปลากะพงขาวสดกับสารปรอท

ปลากะพงขาวสดกับสารปรอท

        ปลากะพงขาว วัตถุดิบธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงแถมย่อยง่าย มีไขมันต่ำ เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารหลากหลายเมนู ทั้งปลากะพงทอดน้ำปลา ปลากะพงนึ่งมะนาว ปลากะพงทอดกระเทียม แกงส้มปลากะพง ทว่าอาหารที่มาจากท้องทะเลอาจมีอันตรายแอบแฝงที่ต้องระมัดระวังคือ การปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น สารปรอท ซึ่งปกติปรอทจะนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมต่างๆ แต่หากในระหว่างการใช้ ไม่มีการควบคุมที่ดีเพียงพอ หรือผู้ประกอบการกำจัดออกจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างขาดความรับผิดชอบ ก็อาจทำให้สารปรอทปนเปื้อนและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ ดิน และทะเลได้ ที่สำคัญยังทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ ทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงปลากะพงขาวมีสารปรอทปนเปื้อนไปด้วย เมื่อเรานำปลากระพงขาวที่ปนเปื้อนสารปรอท มาใช้ปรุง ประกอบอาหารและทานเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ได้รับอันตราย หรือเกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกายจากสารปรอทได้ เช่น พิษต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบประสาท ระบบผิวหนังและเยื่อบุ ระบบโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการปวดท้อง อาเจียนเป็นเลือด การทำงานของไตผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง การมองเห็นผิดปกติ ผื่นแพ้ที่ผิวหนัง ตัวซีด ระบบการหายใจล้มเหลวได้ ตามกฎหมายของไทยกำหนดให้พบเมธิลเมอร์คิวรีปนเปื้อนในปลาสด (ปลานักล่า) ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างปลากะพงขาวสด จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าในตลาดสดเขตกรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์สารปรอทปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่ามีปลากะพงขาวสด 1 ตัวอย่าง พบสารปรอทปนเปื้อนในปริมาณ 0.024 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งปริมาณที่พบนับว่าน้อยมาก และน้อยกว่าที่กฎหมายไทยกำหนด วันนี้ผู้บริโภคทานปลากะพงกันได้อย่างสบายใจ แม้ปลากะพงจะเป็นอาหารที่ดี และมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ควรทานอาหารชนิดเดิมซ้ำๆ ควรเลือกทานอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ เพื่อความปลอดภัยและร่างกายที่แข็งแรง.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins