ฟอร์มาลดีไฮด์ในปลาหมึกกรอบ
ปลาหมึกกรอบ อาหารที่ทำจากการนำปลาหมึกกล้วยมาตากแห้ง นำมาแช่น้ำขี้เถ้า หรือน้ำผสมผงฟู 1-2 วัน จะได้ปลาหมึกกรอบที่เนื้อแน่น จับแล้วเด้งๆ เมื่อทานจะมีความกรอบเด้ง ปลาหมึกกรอบ หาซื้อได้ง่ายตามตลาดนัด และซุปเปอร์มาร์เกตทั่วไป นิยมใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารหลากหลายเมนู เช่น ยำปลาหมึกกรอบ ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ สุกี้ทะเล ชาบู หมูกระทะ ทุกวันนี้ด้วยความที่ต้องการเก็บรักษาปลาหมึกกรอบให้วางขายได้นานๆ พ่อค้า แม่ค้าบางรายจึงนำปลาหมึกกรอบไปแช่ในน้ำที่ผสมฟอร์มาลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน เพื่อป้องกันการเน่าเสีย คงความสดใหม่ของปลาหมึกกรอบ เพราะฟอร์มาลดีไฮด์มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา ปกติจะใช้ในทางการแพทย์ ใช้ดองศพ ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้ในการเก็บรักษาธัญพืชหลังเก็บเกี่ยวและใช้ป้องกันแมลง แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ในอาหาร เพราะเป็นสารอันตราย หากได้รับสัมผัสจะทำให้มีอาการแสบจมูกและตา หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหารในปริมาณน้อย ร่างกายจะกำจัดออกได้ทางเหงื่อและปัสสาวะ แต่หากได้รับปริมาณมากๆ จะทำให้มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ปวดท้อง ปากคอจะแห้ง แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว อาจท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออก เพลีย เหงื่อออก ตัวเย็น คอแข็ง ตามกฎหมายของไทย กำหนดให้ฟอร์มาลดีไฮด์, สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ และพาราฟอร์มาลดีไฮด์ ห้ามใช้ เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร
วันนี้สถาบันอาหาร เก็บตัวอย่างปลาหมึกกรอบ จำนวน 5 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด 5 ร้านในเขตกรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์ฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อน ผลการวิเคราะห์พบว่า ปลาหมึกกรอบทั้ง 5 ตัวอย่าง พบฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อน เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ก่อนซื้อควรดมกลิ่น หากมีกลิ่นฉุนแสบจมูกควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรซื้อมาทาน ก่อนนำมาทาน ควรล้างทำความสะอาดและนำมาปรุงให้สุกด้วยความร้อนสูง เพื่อความปลอดภัย.
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย