สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
น้ำตาลกับข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ

น้ำตาลกับข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ

 

        ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ ช่วงนี้เป็นฤดูทุเรียนของไทย เรามักเห็นพ่อค้าแม่ค้าวางขายทุเรียนสีเหลืองสวยน่าทาน ด้วยรสชาติหวานมัน กลิ่นหอมชวนทาน ทำให้มีคนไทยไม่น้อยที่ชื่นชอบการทานทุเรียน รวมถึงข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ ทุเรียนทอด ทุเรียนกวน ข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ ขนมหวานแบบไทยๆ ที่นำเนื้อทุเรียนสุกมาฉีก แล้วเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ น้ำกะทิและเกลือป่น นำมาราดบนข้าวเหนียมมูลก่อนทาน นับเป็นเมนูที่ถูกใจสายหวานและสายทุเรียน ทว่า ในความอร่อย หอมหวานนั้นหากทานในปริมาณที่พอดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่หากทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวเพราะข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิเป็นเมนูที่มีความหวานสูง เพราะมีน้ำตาลปริมาณมาก แม้น้ำตาลจะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่หากได้รับปริมาณมากเกินไปและสะสมเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดเพิ่มขึ้น หรือเกิดภาวะน้ำตาลไปสะสมอยู่ที่ตับ เกิดไขมันสะสมในร่างกาย แต่หากร่างกายขาดน้ำตาล อาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการหน้ามืด เวียนหัว อ่อนเพลีย

        สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าในเขตกรุงเทพฯ และ จ. ปทุมธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณน้ำตาลทั้งหมดในข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ ผลวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่างมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในช่วง 36.43-55.59 กรัม ต่อข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิ 1 ชุด องค์การอนามัยโลกแนะนำให้คนทั่วไปที่ต้องการพลังงาน 1,600-2,400 กิโลแคลอรีต่อวัน ควรได้รับน้ำตาลไม่เกินวันละ 16-32 กรัม เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ท่านที่ชอบข้าวเหนียวทุเรียนน้ำกะทิคงต้องเบาๆกันหน่อย ทานได้แต่ไม่ควรทานมากเกินไป แค่วันละ 1 ชุด และไม่ควรทานบ่อยเกินไปหรือทานทุกวัน เพื่อป้องกันการเกิดโรค NCDs อย่าลืมว่าในแต่ละวันร่างกายเราได้รับน้ำตาลจากอาหารชนิดอื่นๆอีกด้วย ฉะนั้นทานแต่พอดี และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว.

 


ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins