สไบนางกับฟอร์มาลดีไฮด์
ผ้าขี้ริ้วหรือสไบนาง คือ ส่วนกระเพาะวัว วัวเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะถึง 4 กระเพาะ กระเพาะห้องแรกเรียกว่า ผ้าขี้ริ้ว เพราะมีผนังยื่นออกมาเพื่อทำหน้าที่หมักอาหารด้วยจุลินทรีย์ กระเพาะส่วน 2 เรียกว่ากระเพาะรังผึ้ง ส่วนที่ 3 เรียกว่ากระเพาะสามสิบกลีบ และส่วนที่ 4 เป็นกระเพาะแท้เหมือนกับของคน ซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารได้หลากหลายเมนู โดยเฉพาะอาหารอีสานทั้งลาบ ก้อย ยำ จิ้มจุ่ม และก๋วยเตี๋ยวเนื้อ
เครื่องในสัตว์และกระเพาะหากไม่สดจะเก็บรักษาได้ไม่นานหรือหากเก็บไว้นานอาจมีสีคล้ำไม่น่าทาน ทำให้อาจมีพ่อค้า แม่ค้าบางรายใช้สารเคมีช่วยให้เก็บรักษาไว้ขายได้นานขึ้น เช่น นำมาคลุกกับปูนขาวและขูดออกให้เกลี้ยง แล้วนำไปต้มให้สุก เสร็จแล้วนำไปแช่ในน้ำยาฟอร์มาลีนเพื่อให้คงสภาพความสดไว้ และไม่ให้มีสีคล้ำ ตามธรรมชาติฟอร์มัลดีไฮด์สามารถเกิดขึ้นเองในอาหารชนิดต่างๆ แต่เกิดในปริมาณน้อยมาก สลายตัวได้โดยแสงอาทิตย์ ออกซิเจน ความชื้น ร่างกายของคนสามารถกำจัดออกได้ตามธรรมชาติ แต่ถ้าได้รับเข้าสู่ร่างกายจากการทานอาหารที่มีน้ำยาฟอร์มาลีนหรือฟอร์มัลดีไฮด์ปนเปื้อน ปริมาณมากจะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย
เช่น ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเฉียบพลัน ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน ท้องเสีย หรือหากได้รับปริมาณน้อยๆ แต่ระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย และเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็ง ตามกฎหมายของไทยกำหนดให้ห้ามใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ในอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร
สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างสไบนางสดจำนวน 5 ตัวอย่าง จากตลาดสด 5 ร้านค้า ในเขตกรุงเทพฯ และ จ.ปทุมธานี เพื่อนำมาวิเคราะห์ฟอร์มาลดีไฮด์ในสไบนาง ผลวิเคราะห์พบฟอร์มาลดีไฮด์ตกค้าง ถึง 3 ตัวอย่าง เห็นอย่างนี้แล้วขอแนะว่าก่อนซื้อควรดมกลิ่น หากมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้หลีกเลี่ยง ก่อนนำมาปรุงอาหารควรแช่ด้วยสารละลายด่างทับทิมเจือจางแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง เพื่อให้ฟอร์มาลดีไฮด์ทำปฏิกิริยากับด่างทับทิมแล้วละลายไปกับน้ำล้าง เพื่อความปลอดภัย