วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2565 งานแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร (ครั้งที่ 31) เรื่อง สถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ณ ห้องอมรินทร์ อาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย ชั้น 3 สถาบันอาหาร
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย – สถาบันอาหาร
เผยส่งออกอาหารไทยไตรมาสแรกปี 65 มูลค่า 286,022 ล้านบาท โต 28.8% คาดครึ่งปีหลังโตลดลง ท่ามกลางแรงกดดันด้านต้นทุน เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย กระทบกำลังซื้อ คงเป้าส่งออกทั้งปี 1.20 ล้านล้านบาท โต 9.3%
3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหารเผยไตรมาสแรกปี 2565 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 286,022 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 ชี้มาตรการเตรียมการก่อนเปิดประเทศ (Reopening) ของประเทศคู่ค้า ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลทำให้สินค้าอาหารไทยแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น คาดปี 2565 ยังต้องฝ่าด่านเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จากราคาสินค้าเกษตร ราคาพลังงาน และค่าขนส่ง ทำให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภค
การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สภาหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันอาหาร เผยข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสแรกและแนวโน้มครึ่งหลังปี 2565 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ร่วมให้รายละเอียด ประกอบด้วย
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต
นายเจริญ แก้วสุกใส
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์
ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่าในไตรมาสแรกปี 2565 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากประเทศคู่ค้านำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะกลับมาคึกคักในช่วงที่หลายชาติเตรียมการรับการเปิดประเทศ (Reopening) ประกอบกับ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตเพื่อการส่งออก
สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารไทยในไตรมาสแรกปี 2565 มีมูลค่า 286,022 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.8สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ไก่ (+20.3%), ข้าว (+30.8%), น้ำตาลทราย (+198.4%), กุ้ง (+20.2%), เครื่องปรุงรส (+24.5%), ผลิตภัณฑ์มะพร้าว (+36.8%), ผลิตภัณฑ์สับปะรด (+21.8%) และน้ำผลไม้ (+35.8%) ส่วนการส่งออกแป้งมันสำปะหลัง และปลาทูน่ากระป๋องมีปริมาณลดลงเล็กน้อยแต่มูลค่าขยายตัวสูง มีเพียงการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารพร้อมรับประทาน เท่านั้นที่การส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากทางการจีนเข้มงวดในมาตรการนำเข้าสินค้าเพื่อควบคุมโควิด-19 ทำให้ผลไม้ส่งออกของไทยโดยเฉพาะทุเรียนหดตัวลง
นางอนงค์ กล่าวต่อว่า ตลาดส่งออกอาหารของไทยในไตรมาสแรกปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกลางและเอเชียใต้ ที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูงถึง 101.9% และ 255% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาเซียนเดิม (5 ประเทศ) และ CLMV ก็ขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากความกังวลเรื่องโควิด-19 ลดลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ กลับเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัว ส่วนกลุ่มประเทศคู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ก็ขยายตัวได้ในระดับสูงเช่นกันหลังจากชะลอตัวในปีก่อน มีเพียงการส่งออกไปจีนประเทศเดียวที่ขยายตัวต่ำเพียงร้อยละ 6.0 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนยังคงเกิดขึ้น ทำให้ทางการจีนต้องใช้นโยบาย "Zero-Covid" เพื่อหยุดการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง
“แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 913,978 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และคงคาดการณ์ส่งออกทั้งปีไว้ที่ 1,200,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก
1) ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคท่องเที่ยวและบริการที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หลายประเทศมีแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
2) ยอดติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนเข้าสู่วิถีดำเนินชีวิตปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว
3) ราคาอาหารโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทยโดยรวม
4) เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 5 ปี และมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีกในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลดีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local content) จะเป็นกลุ่มหลักที่จะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว”
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่
1) จีนมีความต้องการสินค้าชะลอตัวลงจากมาตรการควบคุมโควิด-19 นโยบาย "Zero-Covid" ของจีนทำให้หลายเมืองยังพร้อมใช้มาตรการการล็อกดาวน์ได้ทุกเมื่อหากมีการระบาดของโควิด-19
2) ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาวัตถุดิบอาหาร พลังงาน รวมทั้งปัจจัยการผลิตสำคัญทั่วโลก เงินบาทที่อ่อนค่าลงกระทบราคาสินค้านำเข้าให้เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการระงับการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น กรณีของอินโดนีเซียที่ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี เป็นต้น ที่ยังคงกดดันราคาอาหารโลกให้เพิ่มสูงขึ้น
3) เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลกบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 4 ทศวรรษที่ 8.5% ในเดือนมีนาคม 2565 โดยได้แรงหนุนจากต้นทุนพลังงานและอาหารที่พุ่งสูงขึ้น จากข้อจํากัดด้านอุปทาน ขณะที่อุปสงค์ผู้บริโภคยังแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่น (ไม่รวมราคาอาหารสด) เพิ่มขึ้นเป็น 2% ในเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนีราคาขายส่งของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 10% สูงสุดในรอบ 40 ปี เป็นต้น
4) ความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัวและหดตัวในบางประเทศ โดยสหประชาชาติ (UN) ลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2565 ลงจาก 4% เป็น 3.1% ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสแรกปี 2565 หดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า -1.4%