สถาบันอาหาร - สภาหอการค้าฯ – สภาอุตสาหกรรม
►เผยส่งออกอาหารไตรมาสแรกปี 66 ทำรายได้เข้าประเทศ 3.46 แสนล้านบาท โต 10.0%
ลุ้นปี 66 ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในตลาดประเทศพัฒนา ภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินผันผวน ต้นทุนการผลิตสูง และภัยแล้ง ทำนิวไฮต่อเนื่อง 1.50 ล้านล้านบาท โต 2.1%
3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหารเผยไตรมาสแรกปี 2566 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 346,379 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว คาดปี 2566 ส่งออกอาหารไทยยังแข็งแกร่งฝ่าวิกฤติรอบด้าน
ลุ้นทำนิวไฮต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกหลักหลายรายการหดตัวลง ส่วนใหญ่ประสบปัญหา 2 ด้าน คือ 1) วัตถุดิบมีปริมาณลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และ 2) ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลทำให้สินค้าที่พึ่งพิงตลาดหลักดังกล่าวหดตัวลง เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรส เป็นต้น
► นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ได้ประเมินแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2566 ว่า “การส่งออกสินค้าอาหารจะหดตัวลงในไตรมาสที่ 2 จากฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อน แต่จะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 หรือในครึ่งปีหลังของปี 2566 โดยในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารมูลค่า 734,459 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.0 และกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 5.2 ในครึ่งปีหลัง มูลค่าส่งออก 765,541 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2566 คาดว่าจะมีมูลค่า 1,500,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ (New high) ของการส่งออกอาหาร โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก (1) ภาครัฐมีนโยบายฟื้นฟูและการเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว บริการ การค้าและการลงทุน (2) การขาดแคลนอาหารตลอด Supply Chain ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาและตลาดในภูมิภาคตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 (3) ความกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร (Food Safety)
►ทำให้หลายประเทศและผู้บริโภคมีความต้องการสำรองอาหารเพิ่มมากขึ้น (4ป ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดผู้นำเข้าทั่วโลก และ (5) จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ทำให้ปริมาณการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีตลาดทางตอนใต้ของจีน เช่น ไก่แช่แข็ง เป็นไปด้วยความสะดวกมากขึ้น”
………………………………………………………………….
รายละเอียดเพิ่มเติม : จีระศักดิ์ คำสุริย์ โทร. 086 315 1556