ฟอร์มาลดีไฮด์กับ “กระชายฝอย”
อาหารไทย นับเป็นอาหารขึ้นชื่อด้านรสชาติที่เผ็ดร้อนจากเครื่องเทศและสมุนไพรนานาชนิด
ส่วนใหญ่อาหารไทยแท้จะมีวัตถุดิบหลักคือ เนื้อสัตว์นานาชนิด
เมื่อนำมาประกอบอาหารจึงมักใช้สมุนไพรเพื่อดับกลิ่นคาว โดยเฉพาะกระชายสมุนไพรไทย
ที่นิยมใส่ในอาหารประเภทแกงเพื่อความเผ็ดร้อน
หากเดินตลาดสดบ่อยๆ จะเห็นว่าปัจจุบันการซื้อหาเครื่องเทศ สมุนไพร หรือผักสด
เพื่อนำมาประกอบอาหารไม่ใช่เรื่องยาก แถมยังมีการอำนวยความสะดวกให้แก่แม่ครัว
ไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมเช่น พริกสดหั่นและตำไว้ให้พร้อม ใบกะเพราเด็ดพร้อมปรุง
ขิง กระชายซอยไว้พร้อม ซื้อปุ๊บนำมาล้างและปรุงอาหารได้ทันที
สะดวกแบบนี้มีหรือแม่ครัวจะไม่ชอบ ประหยัดเวลาในการเตรียมอาหารไปได้มาก
ขอเตือนว่าในความสะดวกนั้นอาจมีอันตรายที่เรานึกไม่ถึงแอบแฝงอยู่ได้
อันตรายที่อาจปนเปื้อนหรือแอบแฝงมากับกระชายฝอยนั้นคือ ฟอร์มาลดีไฮด์หรือสารละลายฟอร์มาลิน
ที่คนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็นน้ำยาดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย ด้วยคุณสมบัติเด่นข้อนี้
ทำให้พ่อค้าแม่ค้าแอบนำมาใช้ในทางที่ผิด คือ นำมาใช้กับอาหารเพื่อทำให้อาหารยังคงสดไม่เน่าเสียง่าย
ทว่า สารตัวนี้เป็นอันตรายต่อร่างกายผู้บริโภค
อันตรายมีทั้งพิษเฉียบพลันคือ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อตา จมูกและทางเดินหายใจ
ถ้าได้รับในปริมาณเข้มข้นสูงมากๆ อาจทำให้หมดสติและตายได้
ส่วนพิษเรื้อรังหากได้รับในปริมาณน้อยเป็นเวลายาวนานจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบต่างๆ ของร่างกาย หรือเกิดมะเร็งได้ในที่สุด
ซึ่งตามกฎหมายของไทยไม่อนุญาตให้ใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ในอาหาร
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บ “กระชายฝอย” จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า
ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของฟอร์มาลดีไฮด์
ปรากฎว่าพบฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในกระชายฝอย 1 ตัวอย่าง เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง
ขอแนะให้เป็นคนช่างสังเกต ก่อนซื้อพืชผัก สมุนไพรสด หากสังเหตุเห็นว่ามีลักษณะกรอบ
หรือสดผิดปกติ ให้ลองดมที่ใบหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นแสบจมูกแสดงว่าอาจมีฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อน หรือหากสงสัยก็ให้หลีกเลี่ยงไว้ก่อน ///
ผลวิเคราะห์ฟอร์มาลดีไฮด์ใน “กระชายฝอย”
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
ฟอร์มาลดีไฮด์ (พบ/ ไม่พบ) |
กระชายฝอย ร้านที่ 1 ย่านประเวศ |
ไม่พบ |
กระชายฝอย ร้านที่ 2 ย่านปิ่นเกล้า |
ไม่พบ |
กระชายฝอย ร้านที่ 3 ย่านเทเวศร์ |
พบ |
กระชายฝอย ร้านที่ 4 ย่านหนามแดง สมุทรปราการ |
ไม่พบ |
กระชายฝอย ร้านที่ 5 ย่านปากน้ำ สมุทรปราการ |
ไม่พบ |
วันที่วิเคราะห์ 10-11 เม.ย. 2561 วิธีวิเคราะห์ The chemical analysis of foods.,Pearson.D 1970 p.43-44 (Qualitative)
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/