เชื้อก่อโรคในขนมจีน
กล่าวถึง ขนมจีน บ้านเรามีการผลิตและขายอยู่ 2 ชนิด คือ ขนมจีนแป้งหมักและขนมจีนแป้งสด
มีลักษณะที่แตกต่างกันสิ้นเชิงทั้งรูปและกลิ่น ขนมจีนแป้งหมักจะมีสีคล้ำๆ เส้นเหนียว
มีกลิ่นหมักที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับขนมจีนแป้งสดเส้นจะมีสีขาวนวล อุ้มน้ำมากกว่า
เส้นจะขาดง่ายเมื่อนำมาทานคู่กับน้ำยาหรือแกงชนิดต่างๆ จะเกิดการผสมผสานกันอย่างลงตัว
น้ำยาร้อนๆ น้ำพริกร้อนๆ แกงร้อนๆ ทานแกล้มกับผักสดๆ อร่อยลิ้นอย่าบอกใคร
ทว่า สิ่งที่ต้องพึงระวังคือ บางครั้งทานขนมจีนแล้วทำไมท้องเสีย สาเหตุอาจมาจากทั้ง
น้ำยาหรือแกง หรือผักสด หรือเส้นขนมจีน ที่ไม่สะอาด หรือในระหว่างกระบวนการผลิต
ไม่รักษาสุขลักษณะให้ดีเพียงพอ
เริ่มตั้งแต่การจัดเก็บแป้ง ที่อาจเก็บรักษาในที่ที่มีความชื้นสูง เส้นขนมจีนจะเปรี้ยวเร็ว
รวมไปถึงการนวด การโรยเส้นและการจับเส้น โดยเฉพาะการโรยเส้นและการจับเส้น
ที่ต้องพึงระวัง เพราะมีความจำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อคลายความร้อนจากการต้ม
น้ำที่ใช้หากเป็นน้ำที่ไม่สะอาด หรือไม่ได้เป็นน้ำไหลตลอดเวลาหรือเปลี่ยนน้ำตลอด
หรือคนจับเส้นไม่รักษาสุขลักษณะส่วนบุคคล และสุขลักษณะในกระบวนการผลิตให้ดีเพียงพอ
อาจทำให้มีเชื้อราหรือเชื้อก่อโรคปนเปื้อนได้ เช่น เชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส
เชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน เป็นตะคริวในช่องท้อง และอ่อนเพลีย
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นแทรกซ้อน หลายรายจะมีอาการปวดหัว เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ
วันนี้ สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างเส้นขนมจีนจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้า
เพื่อนำมาวิเคราะห์การปนเปื้อนของเชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
ผลวิเคราะห์ปรากฎว่าพบเชื้อดังกล่าวปนเปื้อนในปริมาณน้อยมาก
คือ น้อยกว่า 10 CFU/ กรัม ซึ่งยังไม่เกินเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหาร
และภาชนะสัมผัสอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่กำหนดให้พบเชื้อ
สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ปนเปื้อนในขนมจีนได้ในปริมาณที่น้อยกว่า 100 CFU/ กรัม
วันนี้ ขนมจีนยังปลอดภัยอยู่ ///
ผลวิเคราะห์เชื้อ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส ในเส้นขนมจีน
ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ |
สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (CFU/ กรัม) |
ขนมจีน ร้านที่ 1 ย่านราชวัตร |
น้อยกว่า 10 |
ขนมจีน ยี่ห้อ 1 |
น้อยกว่า 10 |
ขนมจีน ยี่ห้อ 2 |
น้อยกว่า 10 |
ขนมจีน ร้านที่ 2 ย่านราชพฤกษ์ |
น้อยกว่า 10 |
ขนมจีน ยี่ห้อ 3 |
น้อยกว่า 10 |
วันที่วิเคราะห์ 2-8 พ.ค. 2561 วิธีวิเคราะห์ FDA-BAM Online, 2001 (Chapter 12)
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/