สุขลักษณะสถานที่จำหน่ายอาหาร….. วันนี้ไม่ทำไม่ได้แล้ว
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก
เรื่องการส่งออกเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ
โดยเฉพาะการนำระบบประกันคุณภาพและความปลอดภัย GMP, HACCP ไปประยุกต์ใช้และ
ผ่านการรับรองระบบตามข้อกำหนดของกฎหมายไทยและประเทศคู่ค้า
แต่เรื่องการบริโภคในประเทศ ต้องยอมรับว่าร้านค้าหลายแห่งยังไม่มีการนำสุขลักษณะของ
สถานที่จําหน่ายอาหารที่ดีไปใช้อย่างจริงจัง ขณะที่วัฒนธรรมการบริโภคอาหารของคนไทยเปลี่ยนไป
จากเดิมที่ปรุงอาหารทานเองในบ้าน เปลี่ยนมาเป็นทานอาหารนอกบ้าน หรือซื้ออาหารปรุงสําเร็จ
รวมถึงของหวานและเครื่องดื่มต่างๆ ทานแทบจะทุกมื้อ
หากผู้บริโภคซื้อหรือทานอาหารจากสถานที่จำหน่ายอาหารหรือร้านค้าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
อาจทําให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง และเจ็บป่วยจากพิษของสารเคมีจากการทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค
สารพิษ สารเคมีได้ วันนี้ผู้บริโภคที่ต้องพึ่งพาอาหารนอกบ้าน
คงใจชื้นกันได้บ้าง เพราะในวันที่ 16 ธ.ค. 2561 ที่จะถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะบังคับใช้
กฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้สถานที่จำหน่ายอาหาร
ได้แก่ บุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จําหน่ายอาหาร
ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด 4 หมวด ดังนี้
หมวด 1 สุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร เริ่มตั้งแต่การจัดการด้านสถานที่
ต้องมีความสะอาด ทั้งห้องส้วม การจัดการขยะมูลฝอย การจัดการน้ำเสีย ต้องควบคุมให้มีความสะอาด
หมวด 2 สุขลักษณะของอาหาร กรรมวิธีการทำ ประกอบ หรือปรุง การเก็บรักษา การจำหน่ายอาหาร
ต้องมีการจัดการเกี่ยวกับอาหารสด อาหารแห้ง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เครื่องปรุงรส
วัตถุเจือปนอาหาร อาหารปรุงสำเร็จ น้ำดื่มหรือเครื่องดื่ม น้ำแข็งและน้ำใช้
การทํา ประกอบหรือปรุงอาหารต้องใช้น้ำที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าน้ำบริโภคที่กรมอนามัยกําหนดเท่านั้น
หมวด 3 สุขลักษณะของภาชนะ อุปกรณ์ เครื่องใช้อื่นๆ ต้องทำจากวัสดุที่ปลอดภัย เหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท มีการทำความสะอาดที่ถูกสุขลักษณะ
หมวด 4 สุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ต้องมีสุขภาพแข็งแรง
ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะนำโรคติดต่อ หรือโรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ
ต้องรักษาความสะอาดของร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาด
ต้องล้างมือและปฏิบัติตนในการเตรียม ประกอบ ปรุง จําหน่าย และเสิร์ฟอาหารให้ถูกสุขลักษณะ
ที่สำคัญ ต้องมีความรู้ในเรื่องการจัดการอาหารให้สะอาดปลอดภัย
เช่น ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้นจะมีโทษปรับ หรือจำคุก
วันนี้ สถานที่จําหน่ายอาหารต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพราะหากผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการทานอาหารที่ปนเปื้อน
อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอาหารปลอดภัย และเป็นครัวของโลก
ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
โทร. 02 422 8688 หรือ http://www.nfi.or.th/foodsafety/