สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคกับน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ

เชื้อก่อโรคกับน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ

             ปัจจุบันหลายครอบครัวมักติดตั้งเครื่องกรองน้ำไว้ในบ้าน หากบ้านไหนไม่มีจะใช้บริการตู้หยอดเหรียญน้ำดื่มสาธารณะ ซึ่งแต่ละวันจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และกดกันหลายมือ

             หากดูแลทำความสะอาดสม่ำเสมอ ติดตั้ง ตามคู่มือการปฏิบัติของกรมอนามัย เช่น ตั้งอยู่ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นละออง แหล่งระบายน้ำเสียและขยะมูลฝอยไม่น้อยกว่า 30 เมตร ไม่เฉอะแฉะและสกปรก มีการระบายน้ำถูกสุขลักษณะ มีการป้องกันแมลงและสัตว์พาหะนำโรค ติดตั้งตู้ยกระดับสูงกว่าพื้นอย่างน้อย 10 ซม. ที่วางภาชนะบรรจุน้ำมั่นคง สูงจากพื้น ตามความเหมาะสม

             หากปฏิบัติได้ตามนี้ผู้ใช้บริการก็จะบริโภคน้ำดื่มได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าไม่ก็อาจทำให้มีเชื้อก่อโรคที่อันตรายต่อร่างกายปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่กดจากตู้หยอดเหรียญสาธารณะได้

             เพื่อบริโภคน้ำดื่มอย่างปลอดภัย สถาบันอาหาร ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญสาธารณะ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่าน ในเขตกรุงเทพฯ และปทุมธานี นำมาวิเคราะห์โคลิฟอร์ม เชื้อที่บ่งชี้ถึงความไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ และเชื้อก่อโรคปนเปื้อน 4 ชนิด ได้แก่ อี.โคไล, สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส, ซาลโมเนลลา และ คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ พบว่า 5 ตัวอย่าง ไม่พบเชื้อก่อโรค

             แต่พบ โคลิฟอร์ม ปนเปื้อนใน 1 ตัวอย่าง มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดไว้คือ ในน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ ให้ตรวจพบ โคลิฟอร์ม ได้ไม่เกิน 2.2 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร

             เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้ แนะนำว่าเลือกกดน้ำหรือใช้บริการจากตู้หยอดเหรียญสาธารณะที่ปฏิบัติตามคู่มือของกรมอนามัยข้างต้นจะดีกว่า เพื่อการดื่มน้ำอย่างปลอดภัย.

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins