สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันบูดในเส้นขนมจีน

สารกันบูดในเส้นขนมจีน

          ขนมจีนอาหารที่ได้จากการนำข้าวมาแปรรูป สมัยก่อนจะนำข้าวมาแช่น้ำแล้วโม่ได้เป็นน้ำแป้งนำไปต้มให้สุก รีดเป็นเส้นในน้ำอุ่นทำเป็นจับเล็กๆ ใส่ตะกร้าให้สะเด็ดน้ำ รับประทานคู่กับน้ำยาปลาน้ำยาป่า น้ำพริก แกงเขียวหวาน หรือแม้กระทั่งทานแนมกับส้มตำ

          ปัจจุบันมีขนมจีนวางขาย 3 ชนิด ได้แก่ ขนมจีนแป้งหมักจะมีกลิ่นของการหมัก เส้นมีสีขาวคล้ำ เหนียวนุ่ม ขนมจีนแป้งสด สีเส้นขาว แต่มีความเหนียวนุ่มน้อยกว่าแป้งหมัก ทั้ง 2 ชนิด เก็บได้เพียง 2-3 วัน และชนิดสุดท้าย ขนมจีนแห้งกึ่งสำเร็จรูปที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานเป็นปี

          กระบวนการแปรรูปขนมจีนผู้ผลิตบางรายอาจใส่สารกันบูด (กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก) เพื่อยืดอายุการเก็บให้นานขึ้น และป้องกันการเน่าเสียที่เกิดจากแบคทีเรีย ยีสต์และเชื้อรา

          สำหรับกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก หากร่างกายได้รับในปริมาณน้อยจะไม่เกิดการสะสมและไม่ทำให้เกิดอันตราย เนื่องจากร่างกายคนเรามีกลไกขจัดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ด้วยการขับถ่ายออกทางปัสสาวะ และผ่านกระบวนการทำงานของตับและไต

          แต่ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณมากๆจะทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง อาจถึงขั้นพิการได้

          เพื่อบริโภคอย่างปลอดภัย สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างขนมจีนจำนวน 5 ตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูด 2 ชนิด คือ กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ผลปรากฏพบกรดเบนโซอิกในเส้นขนมจีนถึง 4 ตัวอย่างแต่ปริมาณที่พบยังไม่เกินมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขไทยที่กำหนดให้พบกรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กก. ท่านที่ชอบขนมจีนยังทานกันได้แต่ก็ไม่ควรทานให้บ่อยนักเพื่อความปลอดภัย.

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins