สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคในหน่อไม้ปี๊บ

เชื้อก่อโรคในหน่อไม้ปี๊บ

          หน่อไม้ต้มอัดปี๊บ สามารถนำมาปรุงทำอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งเป็นเครื่องเคียงจิ้มกับน้ำพริก ใส่ผสมในส้มตำ ซุบหน่อไม้ แม้เมนูที่มีหน่อไม้ผสมจะแซ่บนัวจัดจ้าน ทว่าแฝงด้วยอันตรายที่อาจเกิดจากเชื้อก่อโรค คลอสทริเดียม โบทูลินัม ปนเปื้อน จากพืชผักที่ปลูกในดิน และมักพบปนเปื้อนในอาหารที่ผ่านการให้ความร้อนไม่เพียงพอ การบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน

          เมื่อเชื้อดังกล่าวเปื้อนในอาหาร และอยู่ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจนและมีความเป็นกรดต่ำ จะเจริญเติบโต สร้างสารพิษ ‘โบทูลินัม’ ขึ้น และเมื่อปนเปื้อนในอาหารและเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลทำให้เกิดโรคโบทูลิซึม อาการคลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ปวดท้อง อาจท้องเสีย กระทั่งอิดโรย มึนงง กระหายน้ำ ปากแห้ง มีเสมหะมากในคอ รายที่รุนแรง มีผลต่อระบบประสาท มองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ลืมตาไม่ขึ้น กลืนอาหารลำบาก หายใจขัด ระบบหายใจขัดข้องและอาจเสียชีวิตในที่สุด

          เพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย สถาบันอาหาร ได้สุ่มตัวอย่างหน่อไม้ปี๊บจาก 5 ย่านการค้าในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 5 ตัวอย่าง มาวิเคราะห์เชื้อ คลอสทริเดียม โบทูลินัม ผลปรากฏทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท รวมถึงหน่อไม้ปี๊บ ต้องตรวจไม่พบเชื้อ คลอสทริเดียม โบทูลินัม

          เพื่อให้ปลอดภัยชัวร์ ควรเลือกซื้อหน่อไม้ปี๊บที่มีการปรับกรดแล้ว (มีรสเปรี้ยวแต่ไม่มาก) ฉลากข้างปี๊บต้องมีเลขสารบบ 13 หลักในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่อสถานที่ผลิต เดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ ปี๊บต้องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบ ไม่บวม ไม่มีรอยเขม่าไฟและฝาไม่บัดกรีตะกั่ว ก่อนนำมาทานให้นำหน่อไม้ปี๊บไปผ่านความร้อนอีกครั้งหรือต้มให้สุกนาน 15 นาที.

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins