สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ยาปฏิชีวนะตกค้างในปลาดอร์รี่สด

ยาปฏิชีวนะตกค้างในปลาดอร์รี่สด

         ปลาดอร์รี่ ชื่อเก๋ไก๋ของปลาสวายสายพันธุ์ “แพนกาเซียสดอร์รี่” ที่เห็นวางขายตามท้องตลาด และซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป มักเป็นแบบชิ้นเนื้อปลาที่แล่มาแล้วแบบสำเร็จรูป บรรจุในภาชนะรูปแบบต่างๆ

         ปลาดอร์รี่ที่ขายในบ้านเรา ส่วนใหญ่นำเข้าจากฟาร์มเลี้ยงในเวียดนาม ราคาจับต้องได้ ไม่แพงเกินไป ทว่าเมื่อมีการเลี้ยงปริมาณมากๆเพื่อการค้า เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาบางราย มีการนำยาและสารต่างๆมาผสมในอาหารให้ปลากิน เพื่อเร่งการเติบโตตามความต้องการของตลาด หรือให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาป่วยหรือเป็นโรค ที่สำคัญยาที่ใช้มักเป็นยากลุ่มเดียวกับที่ใช้รักษาโรคในคน

         ฉะนั้น หากในเนื้อปลามียาปฏิชีวนะตกค้าง และผู้บริโภคอย่างเราๆ ทานเนื้อปลาดอร์รี่นั้นเข้าไป อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น หากในเนื้อปลามียาปฏิชีวนะตกค้างปริมาณสูง และเกินค่ามาตรฐานมากๆ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยา หรือเกิดอาการแพ้ หรือหากตกค้างในปริมาณน้อย แต่เราทานเนื้อปลาดอร์รี่นั้นติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาขึ้นในร่างกายเรา นั่นหมายความว่า หากเราเจ็บป่วยหรือเป็นโรคยาปฏิชีวนะจะไม่สามารถใช้รักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยของเราได้

         วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาดอร์รี่สด 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะตกค้าง 3 ชนิดได้แก่ คลอร์เตตระไซคลิน, ออกซิเตตระไซคลิน และเตตระไซคลิน ผลปรากฏว่า ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด ในปลาดอร์รี่ทุกตัวอย่าง เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้วสบายใจกันได้ แต่ก็อย่าประมาท ควรเลือกซื้อปลาดอร์รี่สดจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้ หรือเลือกซื้อยี่ห้อที่มีเลข อย. เพื่อความปลอดภัยของร่างกายเรา

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins