สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคในปลาแซลมอนรมควัน

เชื้อก่อโรคในปลาแซลมอนรมควัน

          ปลาแซลมอน ปลาทะเลที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาตินิยมทาน ด้วยเพราะมีรสชาติอร่อย ที่สำคัญเนื้อปลาแซลมอนมีคุณค่าโภชนาการที่ดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพและการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย เพราะมีทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3 โปรตีน วิตามินบี วิตามินดี โปแตสเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระ สำหรับคนไทยนิยมทานทั้งในรูปแบบซาชิมิและรมควัน

          การรมควันนับเป็นการถนอมอาหารวิธีหนึ่ง ที่ใช้ถนอมปลาแซลมอนไม่ให้เนื้อปลาเน่าเสียง่าย และให้สีของเนื้อปลามีความคงตัวไม่ซีด ป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ และช่วยคงรูปเนื้อปลาให้อยู่ได้นาน ทว่า สิ่งที่มันมากับอาหารขอเตือนผู้ที่ชื่นชอบปลาแซลมอนคือ อันตรายที่เกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรค เช่น เชื้อ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส

          เชื้อชนิดนี้พบได้ทั่วไปในน้ำ น้ำเสีย อุจจาระคน และสัตว์ จึงสามารถปนเปื้อนลงในวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารได้ง่าย และมักพบปนเปื้อนในอาหารจำพวก นม เนื้อ ไก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และไส้กรอก ถ้าคนขายหรือสถานที่ผลิตอาหารไม่สะอาด ไม่รักษาสุขลักษณะการผลิตที่ดี โอกาสที่อาหารจะปนเปื้อนเชื้อดังกล่าวจะมีสูง เมื่อเราได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ หรือโรคลิสเทอริโอซิส ทำให้มีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัว มีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้และอาเจียน หากเกิดกับหญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก และผู้สูงอายุรวมจะทำให้มีอาการรุนแรงมาก

          วันนี้ สถาบันอาหารได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาแซลมอนรมควัน จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่วางจำหน่ายในเขตกรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์เชื้อ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส ปนเปื้อน ผลปรากฏว่า พบการปนเปื้อนใน 1 ตัวอย่าง ตามประกาศกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหาร และภาชนะสัมผัสอาหารฉบับ 3 กำหนดให้ห้ามพบเชื้อ ลิสทีเรีย โมโนไซโตจิเนส ปนเปื้อน ในอาหาร 25 กรัม เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้วขอแนะว่าควรเลือกทานปลาแซลมอนปรุงสุก หรือนำไปผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 2 นาที เพื่อความปลอดภัยจากโรคอาหารเป็นพิษ.

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins