สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
น้ำตาลกับเครื่องดื่มชูกำลัง

น้ำตาลกับเครื่องดื่มชูกำลัง

          น้ำตาล เป็นสารให้ความหวานที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้านการให้พลังงาน โดยเฉพาะน้ำตาลกลูโคสที่มีหน้าที่สำคัญในการให้พลังงานแก่สมอง ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองทำให้รู้สึกสดชื่นและช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น จึงนิยมผสมน้ำตาลในเครื่องดื่ม น้ำผลไม้แทบทุกชนิด

          เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มอีกชนิดที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนที่ใช้พลังงานมากๆ เช่น นักกีฬา หรือผู้มีอาชีพที่ต้องใช้พลังในการทำงาน เครื่องดื่มชูกำลังมีส่วนผสมหลักๆ คือ คาเฟอีน ที่ทำหน้าที่ให้ความรู้สึกสดชื่น เพิ่มเรี่ยวแรงให้กับผู้ดื่ม และน้ำตาลที่ให้พลังงาน และความสดชื่นแก่สมอง

          องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่าใน 1 วัน เด็กและผู้ใหญ่ควรได้รับน้ำตาลไม่เกิน 25 กรัม หรือประมาณ 6 ช้อนชา ปริมาณเพียงเท่านี้ร่างกายจะนำไปใช้ประโยชน์ได้เพียงพอ และไม่ทำให้เกิดโทษ

          ท่านที่ชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง วันนี้สถาบันอาหารทำการสุ่มตัวอย่างเครื่องดื่มชูกำลังจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาปริมาณน้ำตาลทั้งหมด ผลการวิเคราะห์พบว่า

          ตัวอย่างเครื่องดื่มชูกำลังมีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดอยู่ในช่วง 7.74-14.04 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร

          หรือหากคิดต่อเครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด พบมีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดอยู่ในช่วง 7.74-23.87 กรัมต่อขวด

           ก็สูงอยู่นะ อย่าลืมว่าใน 1 วัน เราทานอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายชนิด ที่อาจมีส่วนผสมของน้ำตาล ในปริมาณมากน้อยต่างกันอยู่แล้ว ทำให้ใน 1 วัน เราอาจได้รับน้ำตาลเกินปริมาณที่ WHO แนะนำ หากร่างกายขับออกไม่หมดจะเกิดการสะสมในร่างกาย หากสะสมมากๆ เป็นเวลานานจะส่งผลเสียในระยะยาว และอาจทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคที่เกี่ยวกับเมตาบอลิกอื่นๆได้

           หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรลดการเติมน้ำตาลที่ใช้ปรุงอาหารที่ทำทานเอง การเลือกซื้อ เลือกทานอาหาร หรือเครื่องดื่มสำเร็จรูปให้ดูปริมาณน้ำตาลที่ระบุไว้บนฉลากโภชนาการเป็นหลักว่ามีเท่าใด หรือเลือกซื้อสูตรที่ระบุว่าหวานน้อย เพื่อให้ร่างกายปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆ จะดีกว่า.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins