สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารหนูกับผลิตภัณฑ์ข้าวสำหรับเด็กเล็ก

สารหนูกับผลิตภัณฑ์ข้าวสำหรับเด็กเล็ก

          วัยทารก วัยเด็กจนถึงวัยรุ่น นับเป็นช่วงสำคัญที่มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองและส่วนต่างๆของร่างกาย อาหารและโภชนาการที่ดี มีบทบาทสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการข้างต้น

          อัตราการเจริญเติบโตทั้งทางสมองและร่างกายที่เร็วที่สุดจะเกิดในช่วงทารก น้ำนมแม่จึงเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติช่วยต้านทานเชื้อโรคต่างๆ ส่วนอาหารของวัยเด็กควรมีสารอาหารครบถ้วน 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารเช้ามื้อแรกของวัน ควรมีทั้งคาร์โบไฮเดรตจากข้าว ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชขัดสีน้อย หรือขนมปังโฮลวีท, โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ปลา นม ไข่, ไขมันปริมาณน้อยๆ จากน้ำมันพืช เนย และวิตามิน เกลือแร่ เช่น แคลเซียม เหล็ก สังกะสี และไอโอดีน ที่ช่วยทำให้ร่างกายเติบโตอย่างเป็นปกติ และได้รับพลังงานจากสารอาหารอื่นอย่างมีประสิทธิภาพ แม้พ่อแม่จะเลือกอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนให้เด็กทานแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ขอเตือนให้เพิ่มความระมัดระวัง คือ อันตรายจากโลหะหนักที่อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร เช่น สารหนูที่ปนเปื้อนมาจากดิน แหล่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกข้าว ธัญพืช พืช เห็ด ที่ใช้เป็นวัตถุดิบของอาหาร

          สารหนู เข้าสู่ร่างกายคนเราได้ทั้งการสัมผัสผิวหนัง การหายใจ การทานอาหารและน้ำดื่ม เมื่อเข้าสู่ร่างกายอันตรายที่เกิดขึ้น คือ ระคายเคืองเนื้อเยื่ออวัยวะที่สัมผัสกับสารหนู คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง อาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับการทํางานของหัวใจ อาการพิษเรื้อรัง จะทําให้เกิดเป็นแผล หรือเป็นรูที่ช่องจมูก ผิวหนังหนาขึ้น มีรอยด่างดําที่ผิวหนัง อาจมีเส้นสีขาวบนเล็บ ชาตามปลายมือ ปลายเท้า มีความรู้สึกแสบร้อน มีอาการอ่อนเพลียของแขน ขา และอาจทำให้เป็นมะเร็งปอด

          วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ข้าวสำหรับเด็กจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ยี่ห้อ ที่วางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เกตในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์สารหนูทั้งหมดปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่า มีผลิตภัณฑ์ข้าวสำหรับเด็ก 4 ตัวอย่าง ที่พบสารหนูทั้งหมดปนเปื้อน แต่ปริมาณที่พบปนเปื้อนน้อยมากและยังไม่เกินค่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนที่กำหนดให้พบสารหนูทั้งหมดได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม วันนี้บรรดาผู้ปกครองสบายใจกันได้ว่าผลิตภัณฑ์ข้าวสำหรับเด็กยังปลอดภัยอยู่.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins