สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุเรียนกวน

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุเรียนกวน

         ทุเรียนกวน ขนมหวานที่มีทั้งกลิ่นหอมหวานของทุเรียน รสชาติหวาน มัน และเนื้อสัมผัสเนียนๆ เป็นที่ถูกปากและชื่นชอบของใครหลายคน แหล่งผลิตทุเรียนกวนส่วนใหญ่ก็อยู่ทางภาคตะวันออก และภาคใต้ของไทย ที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตนำผลผลิตทุเรียนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บไว้ขายและทานได้นานๆ

          ทว่าการทำทุเรียนกวนที่ต้องนำเนื้อทุเรียนมากวนกับส่วนผสมต่างๆ ด้วยความร้อนเป็นเวลานานก็อาจทำให้สีเหลืองนวลของทุเรียนกลายเป็นสีน้ำตาลคล้ำได้ ผู้ผลิตบางรายจึงเติมสารที่ชื่อซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลงไป เพื่อฟอกสีให้ทุเรียนกวนมีสีไม่คล้ำมากและกันเสียเพื่อให้เก็บไว้ขายได้นานๆโดยไม่เน่าเสีย

          สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้หลายชนิด แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น เพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้ทาน เพราะหากได้รับสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ปริมาณมากๆ หรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ร่างกายจะไม่สามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้หมด จะมีผลไปลดประสิทธิภาพของการใช้ไขมันและโปรตีนในร่างกาย หากสะสมมากๆอาจทําให้หายใจติดขัด ปวดท้อง ท้องร่วง เวียนศีรษะ อาเจียน หมดสติ และหากผู้บริโภคป่วยเป็นโรคหืด อาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นและหลอดลมตีบได้

          วันนี้สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างทุเรียนกวนจำนวน 5 ตัวอย่าง จากจังหวัดระยองและนราธิวาส เพื่อนำมาวิเคราะห์สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้าง ผลปรากฏว่าพบตกค้างในทุเรียนกวนทุกตัวอย่าง และเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดให้ใช้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในขนมหวานที่มีผลไม้เป็นส่วนประกอบหลักสูงสุดได้ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถึง 4 ตัวอย่าง เห็นอย่างนี้แล้วท่านที่ชอบทานทุเรียนกวนควรเพลาๆลงบ้าง ทานได้แต่อย่าบ่อยหรือทานมากเกินไป เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins