สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ยาฆ่าแมลงกับผักสด

ยาฆ่าแมลงกับผักสด

 

          ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวของเมืองไทย บางพื้นที่ก็มีน้ำท่วม บางพื้นที่ก็เริ่มมีอากาศหนาวเย็น อากาศที่เริ่มหนาวเย็นน่าจะเป็นที่พอใจของนักท่องเที่ยวไทยหลายคน แต่เรื่องน้ำท่วมนอกจากจะทำให้คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเดือดร้อนแล้ว ยังส่งผลกระทบให้พืชผักต่างๆ มีราคาแพงขึ้นอีกด้วย เช่น ผักชีที่ราคาพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 400 บาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

          ทว่าวันนี้ คอลัมน์มันมากับอาหาร มีข่าวดีเกี่ยวกับผักมาฝากที่อาจช่วยลดความขุ่นข้องหมองใจ จากราคาผักที่แพงในช่วงนี้ได้ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างผักสดได้แก่ คะน้า ผักบุ้ง กะหล่ำปลี กวางตุ้ง และผักกาดขาว จากย่านต่างๆในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 5 ตัวอย่าง ของสถาบันอาหาร เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงตกค้าง 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนคลอรีน กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มไพรีทรอยด์ และกลุ่มคาร์บาเมต จำนวนรวม 58 ชนิด ผลปรากฏว่าไม่พบยาฆ่าแมลงทั้ง 4 กลุ่ม ตกค้างในผักทั้ง 5 ตัวอย่างเลย ยาฆ่าแมลงทั้ง 4 กลุ่มนี้ เกษตรกรไทยมักใช้ในการเพาะปลูกพืชผัก เพื่อกำจัดแมลงและศัตรูพืช หากเราได้รับเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอันตราย เช่น หากได้รับปริมาณมากๆจะทำให้เกิดอันตรายแบบพิษเฉียบพลัน แต่หากได้รับทีละน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จากการทานอาหารที่มียาฆ่าแมลงตกค้างจะทำให้เกิดอันตรายแบบเรื้อรัง ทำให้มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ปวดหัว เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าตามร่างกาย หรือเกิดอาการพิษทางระบบประสาท ที่เริ่มเกิดขึ้นที่ส่วนปลายประสาทของขาต่อมามีอาการเดินโซเซ เสียความรู้สึก กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย และเริ่มเป็นตามแขน

          แม้วันนี้จะตรวจไม่พบยาฆ่าแมลงตกค้างในผักทั้ง 5 ตัวอย่างเลย แต่ก็ไม่ควรประมาท ขอแนะว่า ก่อนนำผักมาทานหรือปรุงเป็นอาหารควรนำผักมาล้างด้วยน้ำสะอาด เริ่มจากแช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านความแรงพอประมาณและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที ก็จะช่วยลดยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักลงได้ สามารถทานเมนูจากผักหรือผักสดได้อย่างปลอดภัย.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins