สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
เชื้อก่อโรคกับยำปูม้า (ดิบ)

เชื้อก่อโรคกับยำปูม้า (ดิบ)

 

        ยำปูม้า อาหารรสแซ่บที่ถูกปากคนไทยแทบทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะบรรดาสาวๆออฟฟิศ ที่นิยมชมชอบอาหารประเภทยำที่มีรสจัดจ้าน เผ็ดร้อนและไขมันต่ำ ดังจะเห็นว่าแทบทุกหัวมุมถนน ริมทาง ริมฟุตปาท ร้านอาหารในตลาดสด ศูนย์อาหาร ซุปเปอร์มาร์เกต ล้วนต้องมีร้านขายสารพัดยำ รวมถึงยำปูม้า ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นปูม้าดิบหรือสุก มะม่วงสับ หอมแดง พริก ถั่วลิสง และเครื่องปรุงอย่างมะนาว น้ำตาล น้ำปลา เพื่อให้มีรสจัดจ้าน ทว่าปูม้าเป็นอาหารทะเลที่ปกติตามธรรมชาติ อาจพบเชื้อก่อโรคปนเปื้อนได้ เช่น วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส

 

        เชื้อชนิดนี้มักอาศัยอยู่ตามทะเลชายฝั่งแบบปิดหรือน้ำกร่อย อาศัยอยู่ในดินหรือตะกอนก้นทะเลที่ไม่ลึกมาก จึงมักพบปนเปื้อนในกุ้ง กั้ง ปู หอย หากพ่อค้าแม่ค้า ไม่ล้างทำความสะอาดกุ้ง หอย ปูที่นำมาปรุงอาหารโดยเฉพาะอาหารประเภทยำดิบๆให้สะอาดเพียงพอ หรือไม่นำกุ้ง หอย ปู มาทำให้สุกก่อนปรุงเป็นยำขาย ก็อาจทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อและทานเข้าไปเป็นอันตรายได้ เพราะเชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส นั้นทำให้เกิดโรคกระเพาะ ลำไส้อักเสบ ทำให้มีอาการท้องร่วง ท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หนาวสั่น มีไข้ต่ำ
 

        ซึ่งตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ฉบับที่ 3 พ.ศ.2560 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดให้อาหารพร้อมบริโภคทั่วไปต้องไม่พบ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ปนเปื้อนในอาหาร 25 กรัม สถาบันอาหารได้เก็บตัวอย่างยำปูม้า (ดิบ) จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้าในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ปนเปื้อน ผลปรากฏว่า พบเชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ในยำปูม้า (ดิบ) 1 ตัวอย่าง เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ท่านที่ชอบทานยำปูม้า (ดิบ) ยังทานกันได้ แต่ควรเลือกซื้อจากร้านที่มั่นใจถึงความสะอาด ทางที่ดีเลือกซื้อยำปูม้าที่ทำให้ปูสุกแล้วนำมายำจะปลอดภัยและสบายท้องกว่า.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins