สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
สารกันบูดกับหมูยอ

สารกันบูดกับหมูยอ

 

        หมูยอ อาหารสัญชาติเวียดนาม ที่กลายมาเป็นอาหารยอดนิยม และเป็นของฝากที่ขึ้นชื่อในแถบภาคอีสานและภาคเหนือของเมืองไทย กรรมวิธีการทำหมูยอเริ่มจากนำเนื้อหมูที่บดแล้วมาเติม ผงปรุงรส เครื่องเทศเพื่อเพิ่มรสชาติ แล้วนำมาอัดเป็นแท่ง และทำให้สุกด้วยการนึ่งหรือต้ม หากทำทานเองในครอบครัวหรือหมู่ญาติพี่น้องอาจไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะมั่นใจได้ถึงความสะอาด ปลอดภัย

 

        ทว่าหากซื้อหมูยอจากท้องตลาด สิ่งหนึ่งที่จะขอเตือนคือ อันตรายจากสารกันบูด ที่ผู้ผลิตบางรายอาจเติมลงไปในหมูยอ เพื่อให้สามารถเก็บรักษาไว้ขายได้นานๆ สารกันบูดที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารมี 2 ชนิดคือ กรดเบนโซอิกที่สามารถยับยั้งการเติบโตของยีสต์และแบคทีเรียได้ดี และกรดซอร์บิกที่มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อราและยีสต์ อีกทั้ง มีความเป็นพิษน้อยและกฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ ตามชนิดและปริมาณที่กำหนด

 

        สำหรับหมูยอ จัดอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดทำให้สุกโดยใช้ความร้อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 418 พ.ศ.2563 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้และ อัตราส่วนของ วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ไม่ได้กำหนดให้ใช้กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก สถาบันอาหารได้สุ่มตัวอย่างหมูยอจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ที่วางขายในตลาดย่านต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ผลปรากฏว่า พบกรดเบนโซอิกในหมูยอ 3 ตัวอย่าง และพบกรดซอร์บิก 3 ตัวอย่างเช่นกัน ซึ่งมีอยู่ 1 ตัวอย่างที่พบทั้งกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก

 

        เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ท่านที่ชื่นชอบเมนูที่มีหมูยอเป็นส่วนประกอบ ขอแนะว่า เลือกซื้อหมูยอที่ในฉลากระบุว่าไม่ใส่สารกันเสีย หรือทานได้แต่อย่าทานให้บ่อยมากนัก เพราะแม้ว่ากรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกจะมีความเป็นพิษปานกลางถึงต่ำ แต่ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณสูงมากอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เลือดตกในหรืออัมพาตได้.

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins