สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ในกุ้งแช่น้ำปลา

วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ในกุ้งแช่น้ำปลา

 

        กุ้งแช่น้ำปลา อาหารรสแซ่บที่ถูกปากของสาวออฟฟิศ และผู้ที่ชื่นชอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยทานคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด และผักเคียงชนิดต่างๆ เช่น กะหล่ำปลี มะระจีน กระเทียม ใบสะระแหน่ ทว่ากุ้งแช่น้ำปลาเป็นเมนูที่ทานในลักษณะดิบ ไม่ได้นำกุ้งมาผ่านความร้อนหรือปรุงสุกก่อนทาน ฉะนั้น หากเราทานกุ้งแช่น้ำปลาที่ผู้ผลิตใช้กุ้งดิบที่ด้อยคุณภาพ ไม่ล้างทำความสะอาดกุ้งให้ดีเพียงพอ อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อก่อโรคเช่น วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส เข้าสู่ร่างกายได้ เชื้อชนิดนี้ พบได้ตามทะเลชายฝั่งแบบปิดหรือน้ำกร่อย อาศัยอยู่ในดินหรือตะกอนก้นทะเลที่ไม่ลึกมาก จึงมักพบเชื้อนี้อยู่ในตัวกุ้ง กั้ง ปู และหอย ตามธรรมชาติ เมื่อเราได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดโรคกระเพาะลำไส้อักเสบ มีอาการท้องร่วง ท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว หนาวสั่น ไข้ต่ำ อาการมักปรากฏหลังได้รับเชื้อเข้าร่างกาย 10-12 ชั่วโมง

 

        สถาบันอาหาร สุ่มเก็บตัวอย่างกุ้งแช่น้ำปลาจำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านอาหารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำมาวิเคราะห์เชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ปนเปื้อน ผลปรากฏว่าพบเชื้อปนเปื้อนในกุ้งแช่น้ำปลา 2 ตัวอย่าง ตามเกณฑ์คุณภาพทางจุลชีววิทยาของอาหารและภาชนะสัมผัสอาหาร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำหนดให้อาหารพร้อมบริโภคประเภทอาหารดิบ หรืออาหารที่มีอาหารดิบเป็นส่วนประกอบต้องไม่พบเชื้อ วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส ปนเปื้อน เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ขอแนะว่าเลือกซื้อกุ้งแช่น้ำปลาจากร้านที่มั่นใจได้ถึงคุณภาพและความสะอาด ของกุ้งและวัตถุดิบอื่นๆ หรือเลือกทานแต่เมนูกุ้งที่ปรุงสุกเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของลำไส้และสบายท้อง

 

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

 

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins