สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
ปลาทูสดกับฟอร์มาลดีไฮด์

ปลาทูสดกับฟอร์มาลดีไฮด์

        ปลาทู อาหารประจำครัวของคนไทยที่เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งโปรตีน ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามิน เกลือแร่ต่างๆ ปลาทูนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ปลาทูทอด น้ำพริกปลาทู ฉู่ฉี่ปลาทู ต้มยำปลาทู แกงผักปลังปลาทูย่าง แกงกะทิไหลบัวปลาทู ห่อหมกปลาทู ปลาทูสามรส เมี่ยงปลาทู ทว่าวันนี้ สิ่งที่อยากเตือนท่านที่ชื่นชอบปลาทูให้ระวังกันนิด คือ สารฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในปลาทู

        ฟอร์มาลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน เป็นสารเคมีมีพิษ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา ปกติจะใช้ฟอร์มาลดีไฮด์ทางการแพทย์ ใช้ดองศพ ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุตสาหกรรมการเกษตร การที่ฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อนในปลาทูสดนั้น อาจเกิดจากคนขายตั้งใจใส่ลงในปลาทู โดยนำฟอร์มาลดีไฮด์ผสมน้ำ ราด แช่ ฉีดพ่นปลาทูก่อนวางขาย ป้องกันการเน่าเสียทำให้ปลาทูยังคงความสดใหม่ สามารถเก็บไว้ขายได้นาน เมื่อทานอาหารที่มีฟอร์มาลดีไฮด์เข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยๆ ร่างกายจะกำจัดออกได้เองทางเหงื่อและปัสสาวะ แต่หากได้รับปริมาณมากๆ หรือมากเกินไปจะทำให้มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้อง ปากและคอจะแห้ง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก อาจมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออก มีอาการเพลีย เหงื่อออก ตัวเย็น และคอแข็ง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 391 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย กำหนดให้ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีฟอร์มาลดีไฮด์ สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ และพาราฟอร์มาลดีไฮด์

        สถาบันอาหารเก็บตัวอย่างปลาทูสดจำนวน 5 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด 5 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯเพื่อนำมาวิเคราะห์ฟอร์มาลดีไฮด์ปนเปื้อน ผลปรากฏว่าปลาทูสดทั้ง 5 ตัวอย่าง ไม่พบฟอร์มาลดีไฮด์ วันนี้ผู้บริโภคที่ชอบทานปลาทูสบายใจกันได้ ขอแนะว่าก่อนซื้อควรดมกลิ่น หากมีกลิ่นฉุนแสบจมูกไม่ควรซื้อ และก่อนนำปลาทูสดมาประกอบอาหารควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้งก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย.

 

ไทยรัฐ+สถานบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins