สถาบันอาหาร | National Food Institute| อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิเพื่อสถาบันอาหาร
โซเดียมกับยำวุ้นเส้น

โซเดียมกับยำวุ้นเส้น

 

        ยำวุ้นเส้น อาหารรสแซ่บที่คนไทยแทบทุกภาคนิยมทาน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น สาวออฟฟิศ สาวโรงงานที่ชอบอาหารรสจัด แซ่บ นัว ยำวุ้นเส้นมีส่วนประกอบหลักคือ วุ้นเส้นสุก เนื้อสัตว์ เช่น หมูสับ หมูยอ ไส้กรอก ไก่ กุ้ง ปลาหมึก ขึ้นฉ่าย หอมแดงหรือหอมใหญ่ซอย ที่ขาดไม่ได้คือน้ำยำที่ปรุงด้วยน้ำปลา น้ำตาล น้ำมะนาว ผงปรุงรส ผงชูรส บางร้านอาจเติมน้ำปลาร้าเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความนัว ทว่า เครื่องปรุงที่ใช้ปรุงอาหารเช่น เกลือ น้ำปลา ผงชูรส ผงปรุงรส ซอส ซีอิ๊ว น้ำปลาร้า เพื่อเพิ่มความนัวและกลมกล่อมนั้น วันนี้อาจต้องระวังกันนิด เพราะอาจมีโซเดียมแฝงอยู่โซเดียมเป็นเกลือแร่สำคัญที่ร่างกายต้องการ มีหน้าที่ช่วยควบคุมสมดุลน้ำและของเหลวในร่างกาย ควบคุมระบบความดันโลหิต การทำงานของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ ดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ในไตและลำไส้เล็ก และยังควบคุมสมดุลของกรด ด่างในร่างกาย หากร่างกายได้รับโซเดียมมากๆ หรือเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการต่อวันบ่อยๆอาจก่อให้เกิดการเสื่อมของไต มีการบวมน้ำ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง เกิดโรคไต ตามมาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สถาบันอาหาร เก็บตัวอย่างยำวุ้นเส้นจำนวน 5 ตัวอย่าง จากร้านยำ 5 ร้านในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียม ผลวิเคราะห์พบว่ายำวุ้นเส้น 5 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในช่วง 518.08-818.09 มิลลิกรัมในปริมาณ 100 กรัม (1 ขีด) ถ้าคำนวณเป็นต่อยำวุ้นเส้น 1 ถุง พบว่ามีปริมาณโซเดียมในช่วง 2,188.27-4,819.39 มิลลิกรัมต่อถุง ซึ่งปริมาณโซเดียมที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (THAI RDI) ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เห็นผลวิเคราะห์อย่างนี้แล้ว ขาประจำยำวุ้นเส้นไม่ควรทานกันบ่อยนัก ทางที่ดีควรทานแบบไม่เติมผงชูรส หรือไม่ควรปรุงให้เค็มมากเกินไป อย่าลืมว่าอาหารอื่นๆที่เราทานในแต่ละวันนั้นมีโซเดียมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อยควรเลือกทานอาหารที่ปรุงรสให้น้อยที่สุด เน้นทานอาหารสดตามธรรมชาติทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เพื่อความปลอดภัยของร่างกายในระยะยาว.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย

เอกสารเพิ่มเติม :
แนะนำลิงก์


Style Switcher

2 Color Skins